กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
อพวช. ปทุมธานี / กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำนิทรรศการ "ยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึก" (Monsters of the Sea) จากต่างประเทศมาจัดแสดงเพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีสาระและสนุกสนาน ผ่านการเรียนรู้เรื่องราวของวิวัฒนาการและการปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่ในทะเลของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักล่าที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศทางทะเล เริ่มวันที่ 15 กันยายน 2560 – 14 มกราคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ตำบลคลองห้า อำเภอ คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจะนำประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีนโยบายสำคัญ ประการหนึ่ง คือ การสร้างกำลังคนให้มีความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นในเรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่ประชาชน ให้ประชาชนคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้มีความพร้อม ทั้งองค์ความรู้ และกระบวนการได้มาซึ่งความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. นับเป็นหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ โดยเริ่มต้นจากเยาวชน ด้วยการสร้างความตระหนักและสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ จากนิทรรศการ กิจกรรมเสริมศึกษา และการประกวดแข่งขันต่าง ๆ เป็นต้น การที่ อพวช. ได้นำนิทรรศการ "ยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึก" มาจัดแสดงในครั้งนี้ จึงเป็นวิธีการหนึ่ง ในการส่งเสริมเยาวชน ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยเยาวชนจะได้ศึกษาเรียนรู้วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในยุคต่าง ๆ รวมถึงการเปรียบเทียบสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์และปัจจุบัน ตลอดจนตระหนักและเข้าใจธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และการสร้างจิตตระหนักอนุรักษ์สิ่งมีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อีกด้วย
ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัรฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)กล่าวว่า นิทรรศการ "ยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึก" หรือ Monsters of the Sea เป็นนิทรรศการที่ อพวช. ได้นำมาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาจัดแสดงให้เยาวชนและประชาชนคนไทยได้เรียนรู้เรื่องราวของวิวัฒนาการและการปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่ในทะเลของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักล่าที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศทางทะเล โดยนิทรรศการชุดนี้จะพาผู้เข้าชมทุกคนข้ามห้วงสมุทรแห่งกาลเวลา เพื่อรู้จักสิ่งมีชีวิตเจ้าของตำนานยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึกในแต่ละยุคสมัย นับตั้งแต่อดีตเมื่อราว 300 ล้านปีก่อนจวบจนถึงปัจจุบัน พร้อมตื่นตาตื่นใจไปกับหุ่นจำลองขนาดใหญ่ของสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ที่มีความยาวตั้งแต่ 5-13 เมตร ด้วยเทคนิคการแสดงแบบ Animatronics ที่สร้างมิติในการเคลื่อนไหวให้ดูสมจริง ไม่ว่าจะเป็น "ลิฟยาแทน" (Livyatan) ชื่อของมันมีที่มาจากสัตว์ร้ายในตำนาน ตัวมันเองเป็นบรรพบุรุษของวาฬหัวทุย ผู้กินเนื้อวาฬด้วยกันเอง "ปูรุสซอรัส" (Purussaurus) จระเข้ขนาดมหึมาที่มีกรามและฟันที่แข็งแรงพร้อมด้วยแรงกัดที่มากกว่าไดโนเสาร์ที- เร๊กซ์ถึง 2 เท่า! "เพลซิโอซอรัส" (Plesiosaurus) สัตว์เลื้อยคลานคอยาวผู้เป็นตำนานต้นแบบของเนสซีหรือสัตว์ประหลาดแห่งทะเลสาบล็อคเนสส์ สัตว์นักล่ามหากาฬ "ไพลโอซอรัส" (Pliosaurus) เจ้าของฉายาเพชฌฆาตเอ๊กซ์ (Predator X) ที่มีขนาดลำตัวยาวถึง 13 เมตร และหนักมากกว่า 200 ตัน รวมทั้ง "เมกาโลดอน" (Megalodon) ฉลามยักษ์ที่มีขนาดของกรามที่ใหญ่ถึง 2 เมตร มีฟันขนาดใหญ่เกือบเท่าฝ่ามือคน พร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการ การปรับตัว และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ในทะเล ตลอดจนสาเหตุของการสูญพันธุ์ แล้วยังถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำความรู้จักกับสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ในทะเล ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับไดโนเสาร์ แต่ไม่จัดว่าเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกัน โดยในนิทรรศการชุดนี้ยังได้นำเสนอหุ่นจำลองสัตว์เลื้อยคลานในทะเลแห่งมหายุคเมโซโซอิกไว้ด้วยกันหลายชนิดอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสริมศึกษา (Education program) ภายในนิทรรศการให้เลือกสนุกสนาน อาทิ มหาสมุทรสุดหยั่ง (Ocean Zones Exploration) เรียนรู้การแบ่งเขตของทะเลออกเป็นระดับชั้นความลึกตามการส่องผ่านของแสงและรู้จักสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแต่ละระดับชั้น ไขวาฬดีมีประโยชน์ (Whale Bubble Experiment) เรียนรู้ถึงประโยชน์ของชั้นไขมันหนาที่สะสมอยู่ใต้ชั้นผิวหนังบางๆ ของวาฬและโลมา ว่ามีส่วนช่วยในการดำรงชีวิตของสัตว์กลุ่มนี้ใต้ท้องทะเลอย่างไร จัดจำแนกแยกยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึก (Classifying Sea Monsters) เรียนรู้เรื่องการจัดจำแนกแยกชนิดเพื่อแบ่งกลุ่มยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึกตามหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต สืบเสาะเลาะชายหาด (Beach Detective) เรียนรู้ถึงผลกระทบของขยะในทะเลที่ไม่ได้ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลเท่านั้น แต่ยังส่งย้อนกลับมาถึงตัวเราเองอีกด้วย Bubble Sea Lives เรียนรู้ถึงรูปทรงที่เหมาะของสัตว์ทะเลที่ช่วยให้เคลื่อนที่ได้อย่างว่องไวในน้ำ Giant in the Bottle :ยักษ์ใหญ่ใต้สมุทร เรียนรู้การจมตัวและลอยตัวของสัตว์ทะเล เช่น หมึกยักษ์ จากแขนสู่ครีบ เรียนรู้วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตผ่านการศึกษาโครงกระดูกสัตว์ต่างๆ พร้อมร่วมกิจกรรม Walk Rally ในหัวข้อ "ตามหาอาหารของยักษ์ใต้ทะเล" (Food Chain of Sea Monsters) พร้อมใบ passport ในการชมนิทรรศการ
ดร.อรรชกาฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนคนไทยมาร่วมเปิดประสบการณ์เรียนรู้และร่วมผจญภัยไปในโลกเหนือจินตนาการกับนิทรรศการ "ยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึก" (Monsters of the Sea) ได้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2560 – 14 มกราคม 2561 วันอังคาร – ศุกร์ เวลา 09.30 -16.00 น. วันเสาร์ –อาทิตย์ เวลา 09.30 -17.00 น. ที่ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2577 9999 ต่อ 2122, 2123 หรือwww.nsm.or.th หรือwww.facebook.com/NSMthailand