กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
พลิกโฉมกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.)ที่ปัจจุบันมีกว่า 79,000 กองทุน ให้เป็นพลังฐานรากสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด"การประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ" ณ.ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทอง มีผู้ร่วมงาน 1,250 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ประธานกองทุนฯ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ประธานกองทุนฯ ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการและคณะบริหารของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยกลไกของกองทุนหมู่บ้านซึ่งปัจจุบันมีทั่วประเทศ เป็นการดำเนินงานของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน มีประชาชนเป็นสมาชิกทั่วประเทศกว่า 13 ล้านคน ในก้าวสู่ปีที่ 17 ของการก่อตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตั้งใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกองทุนหมู่บ้านฯ จากจุดเริ่มต้นของกองทุนหมู่บ้านฯ มาจากแนวคิดของการสร้าง "สังคมแห่งโอกาส" โดยเห็นว่า ถ้าสามารถให้โอกาสแก่ประชาชนที่มีความคิดอ่านอยากประกอบอาชีพ สร้างงาน เพิ่มรายได้ แต่ขาดเงินทุน ประชาชนในระดับฐานรากเหล่านี้ก็จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล ซึ่งสิ่งนั้นได้สะท้อนผ่านโครงการ อาทิ โครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ของกองทุนหมู่บ้านในจังหวัดต่างๆ ที่ได้ไปเยี่ยมเยือน หลายหมู่บ้านนั้นสามารถดำเนินการโครงการทำให้เงินสนับสนุนตั้งต้นที่รัฐจัดไปนั้นเกิดดอกออกผลได้อย่างชัดเจน จนสามารถกล่าวได้ว่า เงินหมุนเวียนของกองทุนหมู่บ้านนั้น ปัจจุบันเป็น "เงินทุนของประชารัฐ โดยประชารัฐ เพื่อประชารัฐ" อย่างแท้จริง ตัวอย่างโครงการ เช่น โครงการผลิตน้ำดื่ม "กล้าดี" ที่โคราชที่มีมาตรฐานสูงกว่าที่องค์การอาหารและยากำหนด ซึ่งเกิดจากความมุ่งมั่นของผู้นำชุมชนและชุมชน หรือโครงการที่กองทุนหมู่บ้านโฮ๊ะ อำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเคยบริหารกองทุนผิดพลาดจนเกิดหนี้สิน แต่ในวันนี้กลับสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์จนมีเงินหมุนเวียนในกองทุน กว่า 18 ล้านบาท หรือการตั้งธนาคารข้าวสารที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้ประชาชนได้ซื้อข้าวสารมีคุณภาพดีราคาถูก เป็นต้น
เมื่อกองทุนหมู่บ้านฯ สามารถตอบโจทย์การสร้าง "สังคมแห่งโอกาส" ได้ในระดับหนึ่ง นับว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมในการจะยกระดับกองทุนหมู่บ้านฯ ให้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการพัฒนาให้กองทุนหมู่บ้านเป็นผู้สร้าง "สังคมแห่งปัญญา" คู่ขนานกับการสร้าง "สังคมแห่งโอกาส" โดยการติดอาวุธทางปัญญา ให้กับผู้นำกองทุนหมู่บ้าน 4 เรื่องสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านฯ ได้แก่ ความรู้ด้านกฎหมาย ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด ความรู้ด้านดิจิทัล ผ่านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมความรู้ธุรกิจผ่านกระทรวงพาณิชย์ และความรู้ด้านการเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังสนับสนุนให้มีการสร้างโฆษกหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่กองทุนหมู่บ้านฯ และยังช่วยเพิ่มช่องทางและประสิทธิภาพในการสร้างการรับรู้และสื่อสารภายในหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้าน เครือข่าย และภาคส่วนอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือจากการสร้างและ "พัฒนาคน" แล้ว กองทุนหมู่บ้านฯ จะต้องมีบทบาทใหม่ที่สำคัญ คือ "การเป็นต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)" ตามแนวทางองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ซึ่งได้ยอมรับว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) สามารถตอบโจทย์ SDGs ได้อย่างแท้จริง และกำลังขับเคลื่อนผ่านโครงการ "SEP for SDGs"
ดังนั้น ในปีที่ 17 นี้กองทุนหมู่บ้านฯ มุ่งมั่นและน้อมนำ SEP และหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 10 คือ มีวินัย ซื่อสัตย์ พอเพียง และมีจิตอาสา มาปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อจะนำไปสู่การขับเคลื่อน SDG การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับหมู่บ้านให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม และตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งหากประสบผลสำเร็จแล้ว กองทุนหมู่บ้านฯ จะกลายเป็น "ตัวอย่างในการมุ่งสู่ SDGs" ให้เป็นที่ประจักษ์ในประชาคมโลก นอกจากการกำหนดเป้าหมายในปีที่ 17 แล้วนั้น ได้มอบหมายทางกองทุนหมู่บ้านฯให้เดินหน้า ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันใกล้นี้อีก 3 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก คือ การขับเคลื่อนงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ตามโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งปัจจุบันมีการเบิกจ่ายไปกว่า 70% ได้กำหนดให้มีการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
ประเด็นที่สอง คือ การบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้ให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ (สทบ.) เร่งประสานงานกับธนาคารกรุงไทยในการติดตั้งเครื่อง EDC (Electronic Data Capture เครื่องรูดบัตร)ให้กับร้านค้าสวัสดิการเพื่อคนรายได้น้อย
ประเด็นที่สาม คือ การจัดงานแสดงสินค้ากองทุนหมู่บ้านฯ ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมในช่วงต้นเดือนตุลาคม2560 โดยได้คัดเลือกร้านค้ากว่า 450 ร้านมาเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของกองทุนหมู่บ้านฯ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
แนวทางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งระยะสั้น และ ระยะยาว ที่จะเกิดขึ้นในปีที่ 17 ของการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อให้การดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านนั้นนำไปสู่การตอบโจทย์ที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้วางไว้ว่า"ประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพลังประชารัฐ" กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนThailand 4.0 ด้วยการเป็น "หมู่บ้าน 4.0" ผ่านการมีหลักคิดที่ถูกต้อง และหลักปฏิบัติที่ถูกทำนองคลองธรรม เพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง