กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
ปรากฎการณ์ "ภาวะโลกร้อน" เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นเพราะก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้สารเคมีที่มีส่วนผสมของก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ใช้ การเผาถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งเมื่อก๊าซเรือนกระจกลอยไปรวมตัวอยู่บนชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้รังสีดวงอาทิตย์ที่ควรจะสะท้อนกลับออกไปในปริมาณที่เหมาะสม กลับถูกก๊าซเรือนกระจกเก็บไว้ ทำให้อุณหภูมิของโลกค่อยๆ สูงขึ้น
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หน่วยงานที่ตระหนักถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ผ่านการส่งเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและผลิตภัณฑ์และนำผลที่ได้ไปกำหนดแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
"ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน" อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางอบก.ดำเนินการขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่นไทยลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมอบประกาศนียบัตรแก่บุคคล องค์กรที่ดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการอบก. กล่าวว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้เกิดความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศ และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ
ผลการดำเนินการในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองและกิจกรรมที่อบก.ส่งเสริมในปี 2560 มีดังนี้ 1.กิจกรรมชดเชยคาร์บอน เป็นการรับรองของให้ใช้เครื่องหมายCarbon Offset ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบางส่วนและ Carbon Neutralเครื่องหมายรับรองการปล่อยก๊าซกระจกเท่ากับศูนย์ในปีงบประมาณ 2560 มีปริมาณการซื้อคาร์บอนเครดิตจากการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนทั้งสิ้น27,848 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งกระตุ้นให้เกิดตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ 2.ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) และฉลากลดโลกร้อน หรือฉลาดลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์(Carbon Footprint Reduction) ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในอาเซียนที่มีระบบการรับรองสอดคล้อง ตามหลักสากล 3.คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ปีงบประมาณ 2560 พบว่ามีองค์กรภาคอุตสาหกรรมดำเนินการและผ่านการรับรองจากอบก.จำนวน35องค์กร ทั้งนี้ องค์กรได้นำผลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปใช้กำหนดแนวทางการจัดการและแผนงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
นางประเสริฐสุข กล่าวต่อไปว่านอกจากนั้น มีการส่งเสริมโครงการต่างๆ อาทิ โครงการนำร่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย โครงการการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โครงการประกวดเทศบาลไทย ใส่ใจลดโลกร้อน ฯลฯ และปีงบประมาณ 2560 ได้ร่วมกับภาคเอกชน 7 แห่งที่ประสงค์จะให้การสนับสนุนการดำเนินการโครงการในพื้นที่ป่าชุมชนต้นแบบ 7 แห่ง อาทิ ป่าชุมชนบ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง สนับสนุน โดย บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ป่าชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ จ.เพชรบุรี โดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ป่าชุมชนบ้านวังศิลาดิเรกสาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยบริษัท เค โกลบอล จำกัด ป่าชุมชนบ้านลำน้ำเขียว จ.ลพบุรี โดยบริษัท ไทยนิปปอนฟู้ดส์ จำกัด ป่าชุมชนบ้านแขมงคงมั่น จ.ระยอง โดยบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ป่าชุมชนบ้านยายจั่น จ.ระยอง โดย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ ป่าชุมชนบ้านห้วยโรงนอก จ.แพร่ โดย บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน)
นอกจากภาคอุตสาหกรรม เอกชน และภาคท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยลดโลกร้อนแล้ว นายชูศักดิ์ ช่วยบุญญะ และนายสมบูรณ์สุทัต พูลนิน 2 ตัวแทนจากกรรมการป่าชุมชนต.เนินพระบ้านศาลเจ้า จ.ระยอง เล่าว่าชุมชนป่าเมืองของเรา เป็นการรวมตัวของชาวบ้านทั้งต.เนินพระ ป่ามีเนื้อที่ 127 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีโครงการมากมายในการส่งเสริม อนุรักษ์ รักษาป่าใจกลางเมืองให้กลายเป็นป่าเมือง ปอดของชาวจ.ระยอง โดยได้รวมตัวกันมา 10 ปี ในการดูแลรักษาป่า ซึ่งเป็นป่าที่มีต้นยางใหญ่ เนื่องจากอดีตมีผู้บุกรุกและแอบอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าว มีสิทธิ์ครอบครอง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวงแหและเกิดการรวมตัวกันขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะได้ช่วยกันรักษาดูแลป่า จนกลายเป็น ป่าชุมชนเมือง
"ป่าชุมชนเมือง กลายเป็นปอดให้แก่คนระยอง เพราะป่าอยู่กลางเมือง และสามารถเก็บคาร์บอนได้อันดับที่ 2 ของประเทศ โดยการดำเนินการเราจะจัดสร้างจิตสำนึก จัดกิจกรรมให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการปลูกต้น นำนักเรียนในพื้นที่มาดูงาน ดังนั้น การสร้างจิตสำนึกให้เด็กรุ่นใหม่รักป่า ต้องเริ่มปลูกในใจเขา คือให้เขาได้เข้ามาดูแล ปลูกต้นไม้ เป็นพื้นที่สีเขียว ความร่มเย็น อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนอุตสาหกรรม และภาครัฐ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ชาวบ้านดูแลอนุรักษ์พื้นป่าได้มาก เพราะชาวบ้านมีกำลังแต่ไม่มีทุน ไม่มีที่ปรึกษา แนวคิด ทำให้เราได้รวมตัวกันเป็นรูปร่างมากขึ้น อยากให้มีการสนับสนุนกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ" ตัวแทนจากกรรมการป่าชุมชนต.เนินพระบ้านศาลเจ้า จ.ระยอง กล่าวทิ้งท้าย