กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 เปิดกว้างรับเยาวชนตั้งแต่ประถมถึงอุดมศึกษา ไม่จำกัดแนวเพลง และเครื่องดนตรีไม่ใช้ไฟฟ้า เป็นเวทีเสริมสร้างศักยภาพเยาวชน สะท้อน 2 ทศวรรษแห่งพัฒนาการดนตรีไทยเทียบระดับสากล
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคน โดยนอกเหนือจากการพัฒนาศักยภาพด้านร่างกายและจิตใจผ่านการส่งเสริมกีฬา และการสร้างความดีแล้ว ดนตรีก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิต ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงให้การส่งเสริมดนตรีซึ่งเป็นภาษาสากลที่สามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย และคนทุกสถานะ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคม สร้างประโยชน์ให้แก่คนทุกกลุ่ม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ "To Make Capital Market Work for Everyone"
"สำหรับ SET เยาวชนดนตรีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดตั้งต้นสร้างเยาวชนให้ก้าวเข้าสู่ความสำเร็จ ทั้งในระดับประเทศ ระดับเอเซีย และระดับนานาชาติ ในแต่ละปีมีเยาวชนเข้ามาสมัครประมาณ 300-500 ผลงาน ปีที่ 20 นี้ ตั้งเป้าจะมีเยาวชนเข้ามาสมัครมากขึ้น ได้เห็นประเภทดนตรีที่เข้าร่วมประกวดหลากหลายขึ้น ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเวทีการประกวดนี้ในทุก ๆ ปี ที่สำคัญได้เห็นความสำเร็จของน้อง ๆ เยาวชน มีการนำดนตรีไปสร้างประโยชน์ ทั้งด้านการเรียน การงาน และการใช้ชีวิต" นางเกศรากล่าว
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสิ่งที่เยาวชนจะได้รับจากเข้าประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ว่าเปรียบเสมือนบทเรียนที่สำคัญบทหนึ่งของชีวิตเยาวชนที่มีความสามารถด้านดนตรี ไม่ว่าผลการแข่งขันออกมาจะชนะหรือไม่ก็ตาม หากเยาวชนเหล่านี้ต้องพบเจอกับความยากลำบาก และความผิดหวังในอนาคต เขาก็จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ แก้ปัญหา และสามารถยืนหยัดต่อไป ก้าวผ่านบทเรียนของชีวิตไปได้อีกบทหนึ่ง" รศ. ดร.สุกรี กล่าวและว่า 20 ปีที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัด คือการยอมรับเรื่องของดนต รีว่าเป็นวิชาชีพของนักปราชญ์ วิชาชีพดนตรีได้การยอมรับมากขึ้น เป็นพัฒนาการที่เห็นได้ชัด จากอาชีพเต้นกินรำกิน วันนี้ดนตรีคืออาชีพที่มีเกียรติ สังคมให้การยอมรับ เช่นเดียวกับมาตรฐานสากลในหลายประเทศ
ดนตรีพัฒนาไกลแต่ยังขาดพื้นที่จัดแสดงระดับสากล
วงการดนตรีเปลี่ยนแปลงไปมาก สังคมให้การยอมรับ และนักดนตรีไทยก้าวสู่สากลมากขึ้น ซึ่งในโลกตะวันตก ความเจริญของประเทศเขาวัดกันที่รสนิยมทางดนตรี มาวันนี้ประเทศไทยมีดนตรีคาสสิคพื้นบ้านในแผนที่โลกแล้ว จำนวนเด็กเรียนดนตรีอายุไม่ถึง 15 ปีมีประมาณ 7 หมื่นคน วันนี้มีกว่า 1.3 ล้านคน ครูสอนดนตรีวันนี้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ต่อชั่วโมงเกิน 1,000 บาทแล้ว
ดนตรีบ้านเราพัฒนาไปมากแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดคือ บ้านเรายังไม่มีออดิทอเรียมที่ดี เช่นใน ลอนดอน นิวยอร์ค เบอร์ลิน และโตเกียวเขามีออดิทอเรี่ยมที่ดีมากๆ ถ้าเมืองไทยมีออดิทอเรียมที่ดีรองรับผู้ชมได้สัก 1,100-1,200 ที่นั่งแบที่ไปฟังแล้วเท่ห์ประเทศไทยสุดยอดด้านดนตรียิ่งกว่านี้
ดร.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินชื่อดังร่วมเป็นกรรมการในงานนี้ กล่าวว่า การเป็นกรรมการตัดสินการประกวดทุกปี ได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ของเยาวชน และมีโอกาสได้เล่นดนตรีกับเด็กรุ่นใหม่ ได้เห็นดนตรีพัฒนาขึ้น เป็นประสบการณ์ดีๆ ที่ได้ร่วมงานตลอด 2 ทศวรรษ
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินอาวุโสที่ร่วมเป็นกรรมการอีกท่าน กล่าวว่า ดนตรีเป็นสากล พ้นจากภาษา เชื้อชาติ กาลเวลา ดนตรีเป็นสื่อความรู้สึกที่เป็นสากล ยิ่งทุกวันนี้โลกมันแคบ ดนตรีแสวงหาความเป็นต้นฉบับ คำว่ามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีอยู่พร้อมในแวดวงดนตรีบ้านเรา ซึ่งวันนี้มีความเป็นต้นฉบับสูง เรามีของดีต้องสร้างการยอมรับ ซึ่งดนตรีไม่ใช่วิชาชีพเท่านั้น แต่เป็นวิชาชีวิต ที่วิชาชีพอื่นไม่สามารถบรรดาลให้ได้เหมือนวิชาศิลปะ ผู้ที่รักดนตรี เล่นดนตรี และฟังดนตรี จะประจักษ์ในสุนทรียของชีวิต
SET เยาวชนฯเปิดเวทีนักดนตรีรุ่นใหม่กว่า 1.8 หมื่นคน
ที่ผ่านมาเวทีประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย มีเยาวชนมาแสดงความสามารถแล้วกว่า 18,800 ราย และมีเยาวชนที่ได้เติบโตจากเวทีนี้ จำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จ ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักดนตรีอาชีพในระดับประเทศและนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อาทิ นายชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ (กีต้าร์ คลาสสิค) นางสาว ตปาลิน เจริญสุข (เชลโล่) นายเอกชัย เจียรกุล (กีต้าร์ คลาสสิค) นางสาวอรณัส ยืนยงหัตถภรณ์ (ขับร้องคลาสสิค) ด.ช. ณธัญ วิทยะสิรินันทน์ (เปียโน) นายต้นตระกูล แก้วหย่อง (โปงลาง) และด.ช.ชัยธวัช อติโภภัย (เปียโน)
การประกวด SET เยาวชนดนตรีฯ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา ชิงรางวัลเกียรติบัตรและทุนการศึกษา โดยผู้ได้รับรางวัลเหรียญทอง จะได้รับทุนการศึกษาด้านดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีรางวัลสำหรับครูผู้ฝึกสอนที่ลูกศิษย์เข้ารอบชิงชนะเลิศอีกด้วย รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 1.8 ล้านบาท เยาวชนผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้-30 ก.ย. 2560 เริ่มแข่งขันรอบรองชนะเลิศ 25-26 พฤศจิกายน และชิงชนะเลิศในวันที่ 17 ธันวาคม 2560 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.music.mahidol.ac.th สอบถามโทร 0-2800-2525 ต่อ 3117, 3109