กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สถาบันอาหาร
สสว. จับมือสถาบันอาหาร แถลงผลสำเร็จโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว เผยเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการต้นน้ำถึงปลายน้ำเข้าร่วมเป็นสมาชิก 3,300 ราย จากพื้นที่เป้าหมาย 18 จังหวัด สร้างการรวมกลุ่มได้ 26 เครือข่าย พัฒนาผู้ประสานงานเครือข่าย 80 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่เกินเป้าหมาย ส่งเสริมการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างยอดขายเบื้องต้นได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทในปีแรก พร้อมจัดประกวดและมอบรางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย โดยนำนวัตกรรมหรืองานวิจัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ หวังกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์มะพร้าวไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สมาชิกเครือข่าย เผยคลัสเตอร์มะพร้าวสมุทรสาครส่ง "น้ำมะพร้าวน้ำหอม 100% บรรจุขวด" การันตีคุณภาพทั้งรสและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง
นายวชิระ แก้วกอ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมมะพร้าวตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ได้รับการตอบรับจาก SME เป็นอย่างดี สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 3,300 ราย จากพื้นที่เป้าหมาย 18 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา สตูล ปัตตานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก นครสวรรค์ เลย ขอนแก่น หนองคาย นครราชสีมาร่วมกับสระบุรี และร้อยเอ็ด ได้คัดเลือกผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA) ไว้จำนวน 80 ราย เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว 26 เครือข่าย
"เป็นที่น่ายินดีที่มีเกษตรผู้ปลูกใหม่ให้ความสนใจร่วมเครือข่ายกับโครงการของเราเกือบ 400 ราย ซึ่งเกินความคาดหมายที่ตั้งไว้ราว 300 ราย สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และอีกหลายอำเภอใน จ.นครสวรรค์ และ จ.สตูล เพื่อบรรเทาการขาดแคลนมะพร้าวในประเทศ และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริมกรณีปลูกมะพร้าวแซมที่นา ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมการทำตลาดต่างประเทศ โดยการนำสินค้าจากกลุ่มเครือข่ายที่ได้รับการคัดเลือกไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างประเทศ และจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ ประเทศจีน ไต้หวัน และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับดี เมื่อรวมกับตลาดในประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการจับคู่ธุรกิจกับห้างค้าปลีก-ค้าส่งที่มีชื่อเสียงในประเทศ ประเมินว่าจะมียอดสั่งซื้อรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทในปีแรก ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูป อาทิ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม
บรรจุขวด/กระป๋อง น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น มะพร้าวแก้ว มะพร้าวอบกรอบ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ เช่น โลชั่น สบู่เหลว สบู่ก้อนและแชมพู เป็นต้น" นายวชิระ กล่าว
นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยรายละเอียดการดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่ายSME ปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว ตามที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย(สสว.) ว่า จากการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินการธุรกิจให้กับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้จัดทำแผนการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ ทั้งระยะสั้น (1 ปี) ระยะกลาง (3 ปี) และระยะยาว (5 ปี) เกิดแผนพัฒนาเครือข่ายหรือ Cluster Roadmap จำนวน 26 แผน
"แผนงานพัฒนาเครือข่ายดังกล่าว ประกอบไปด้วยแผนการนำนวัตกรรม หรืองานวิจัยมาใช้เพื่อปรับปรุงการผลิต ปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อการลดต้นทุนการดำเนินการ การดำเนินการทางการตลาด การเงิน และการบริหารจัดการกลุ่มเครือข่าย ทั้งนี้แต่ละกลุ่มเครือข่ายสามารถพิจารณาเลือกได้ว่าจะพัฒนาศักยภาพของกลุ่มหรือของสมาชิกในกลุ่มในด้านใด เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หรือการยกระดับมาตรฐานกระบวนการผลิต เป็นต้น โดยจะทำการส่งเสริมการทำตลาดผลิตภัณฑ์จาก 26 เครือข่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยการทำ E-market Place ให้แต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ ผ่านทาง เว็บไซต์ shopee เป็นต้น เป็นระยะเวลา 1 ปี และจัดให้มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย โดยจัดทำเว็บไซต์ Coconut Pavilion เพื่อเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงตลาดทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศอีกด้วย"
นางอรวรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมปิดท้ายโครงการฯ เป็นการจัดประกวดและประชาสัมพันธ์ แบรนด์มะพร้าวไทยและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไทย เพื่อหา Success Case ที่มีศักยภาพในการสื่อสารแบรนด์ และจัดให้มีการประกาศและมอบรางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์มะพร้าวไทย ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สมาชิกเครือข่าย โดยให้แต่ละเครือข่ายรวม 26 กลุ่ม ส่งผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูปเข้าประกวด มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสสว. สถาบันอาหาร นักการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และสื่อมวลชนด้านอาหาร คัดเลือกหาสุดยอดผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยจำนวน 5 รางวัล ซึ่งผลการตัดสินมีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ "น้ำมะพร้าวน้ำหอม 100% บรรจุขวด" จากคลัสเตอร์มะพร้าวสมุทรสาคร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ "เจลทำความสะอาดผิวหน้า ผิวกาย และเส้นผมบรรจุในขวดเดียวกัน(Head to Toe Washing Gel)" จากคลัสเตอร์มะพร้าวสตูล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ "น้ำหวานดอกมะพร้าวอินทรีย์เข้มข้น" จากคลัสเตอร์สมุทรสงคราม รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ "มะพร้าวอบน้ำผึ้ง" จากคลัสเตอร์มะพร้าวฉะเชิงเทรา และ "ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งลูกเร่งดอก" จากคลัสเตอร์มะพร้าวบางสะพานน้อย(กลุ่มปุ๋ย)