กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางมาร่วมประชุมติดตามงานเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และ พะเยา) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมจันทร์ผา โรงแรมเวียงลคอร อ.เมืองลำปาง โดยมี ผู้แทนท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวเข้าร่วมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของเขตพัฒนาการท่องเที่ยว อารยธรรมล้านนา ให้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในมิติเชิงพื้นที่ในเขต 12 เมืองต้องห้ามพลาด
รมว.ท่องเที่ยวฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการศึกษา และพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล หรือ Tourism for All เพื่อส่งเสริม และสนับสนุน นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกประเภท ให้สามารถเข้าถึงการบริการ ด้านการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงเสริมสร้าง การกระจายรายได้ จากการท่องเที่ยวการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของเขตพัฒนาการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค ซึ่งจากการสำรวจพบเส้นทางการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมโยงในกลุ่มล้านนา "ศรัทธาธรรมถิ่นล้านนา" วัดประจำปีเกิด ซึ่งได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทัวร์ชาวจีน รองลงมา คือกลุ่มสหรัฐ และญี่ปุ่น ตามลำดับ
ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทำกิจกรรมอื่นๆ ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เป็นโอกาสในการสร้างตลาดการท่องเที่ยวเชิงกีฬา เช่น การแข่งขันวิ่งมาราธอน ไตรกีฬา การท่องเที่ยวเชิงอาหาร ตามเส้นทางโครงการหลวง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น ส่งเสริมเชียงรายเป็นเมืองล้านนา Wellness ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้
ทั้งนี้ จากสถิติรายได้จากการท่องเที่ยวของเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ในเดือน มกราคม-มิถุนายน 2560 พบว่า รายได้สูงสุดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง และลำพูน โดยลำปางอยู่ที่ 2,387.54 พันล้าน คิดเป็น6.2% และในช่วงนี้ใกล้กับช่วงฤดูหนาวที่ภาคเหนือ จะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา จึงขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และผู้เกี่ยวข้องได้ประสานความร่วมมือกัน เป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น เพื่อร่วมกันสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวดึงเงินเข้าประเทศ สร้างเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนภายในจังหวัด พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านสินค้าผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย