กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--เนคเทค
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศว่า กฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และกฎหมายเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือเรียกรวมกันว่า กฎหมายอี-คอมเมิร์ซ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งโดยทั่วไปจะเสร็จภายใน 20 วัน หลังจากนั้นอีก 120 วันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะมีผลบังคับใช้ คงจะไม่เกินเดือนมีนาคมศกหน้า
ส่วนกฎหมายอีก 4 ฉบับที่เหลือ ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการดำเนินงานดังนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทั่วถึงและเท่าเทียม ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)แล้ว และกำลังรอนำเข้าพิจารณาขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรคาดว่ารัฐสภาน่าจะมีมติในการประชุมสมัยสามัญที่จะถึงนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในระหว่างการพิจารณาของครม.คาดว่า น่าจะเสร็จและส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทันในสมัยประชุมนี้เช่นกัน ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และกฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณายกร่างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมศกนี้ อย่างไรก็ตามตนมั่นใจว่ากระบวนการของกฎหมาย 4 ฉบับที่ เหลือจะรวดเร็วกว่ากฎหมาย 2 ฉบับแรกมากเพราะมีตัวอย่างเป็นแนวทางในการทำงานแล้ว "การทำกฎหมายอี-คอมเมิร์ซยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยและของโลก ไม่มีตัวอย่างให้เป็นแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน บางประเทศทำไปแล้วก็มีปัญหาในการบังคับใช้ จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการศึกษาทำความเข้าใจกันนาน แต่ตอนนี้กฎหมายเสร็จแล้วเท่ากับเป็นการบุกเบิกการทำงานให้มีทางให้เดินแล้ว คาดว่าในปี 2545 กฎหมายทั้งหมดจะสามารถประกาศใช้ได้หากการเมืองไม่ผันผวนมากนัก"
ดร.ทวีศักดิ์กล่าวต่อไปว่าในระยะเวลา 120 วัน ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้นั้นคณะทำงานที่เกี่ยวข้องยังต้องดำเนินงานต่างๆ ตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ คือ จัดทำพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่มีผลบังคับใช้ในกรณีใดบ้าง การแต่งตั้งคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงจัดตั้งสำนักงานมารองรับคณะกรรมการฯ ซึ่งที่มาของคณะกรรมการกฎหมายได้ระบุไว้แล้ว ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ นั้นได้มีการพิจารณาและทาบทามไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้
นอกจากนี้คณะทำงานยังได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการทำความเข้าใจตัวกฎหมายรวมทั้งการออกกฎกระทรวงออกมารองรับกฎหมายนี้ ด้านหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกฎหมายนี้มานานแล้ว หากกฎหมายบังคับใช้เขาก็พร้อมทำงานได้ทันที
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้สร้างอำนาจให้กับภาครัฐ มากเกินไปตรงที่ต้องให้มีการขออนุญาตประกอบธุรกิจ Certification Service Provider และอาจทำให้การใช้ไม่แพร่หลาย ตนอยากให้มองกลับไปที่เนื้อแท้ของกฎหมายในมาตราที่ 25 เขียนไว้ว่าในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ หรือการเสริมสร้างความเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน คณะกรรมการอาจเสนอให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กรณีใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบหรือต้องได้รับใบอนุญาตก่อนได้ ซึ่งจุดนี้จะได้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อหาข้อระบุในพระราชกฤษฎีกาว่า การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใดบ้างที่ต้องขออนุญาต
"เราจะตั้งโจทย์ให้ภาคเอกชนนำกลับ ไปคิดว่าอยากให้เราทำอะไร ให้เราคุ้มครองอะไรให้ หรือการแยกความแตกต่างระหว่างข้อมูลส่วนบุคคลกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผมกลับมองว่ากฎหมายฉบับนี้ให้อิสระและให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างมาก" ดร.ทวีศักดิ์กล่าวในที่สุด--จบ--
-สส-