กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเร่งพัฒนาศักยภาพเผยผลดำเนินงานกองทุนระดับดีมีจำนวน 70% - 80% และเพื่อช่วยเหลือสังคม สทบ.ยังเตรียมหารือ 3 ฝ่ายร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการคลังเพื่อร่วมแก้ปัญหาหนี้นอกระบบแก่ประชาชน ผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้านตามที่รับบาลโดยรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย เผยนำร่องใช้เงินหมุนเวียนภายในกองทุน ก่อนพึ่งพาสถาบันการเงินที่มีวงเงินกว่า 1 หมื่นล้าน แก้ปัญหา พร้อมทั้งส่งเสริมสมาชิกกองทุนฯออมเงินมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงชีวิต
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่านอกเหนือจากบทบาทของกองทุนหมู่บ้านในการเป็นแหล่งเงินทุน สร้างงาน สร้างอาชีพ และรับฝากเงินออมจากประชาชนแล้ว กองทุนหมู่บ้านฯยังสร้างสรรค์โครงการดีๆและมีประโยชน์ต่อชุมชนอีกด้วยและตลอดจนช่วยเหลือสังคม ขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำคู่มือและแนวทางฟื้นฟูแก่กองทุนหมู่บ้านฯ ในการแก้ไขหนี้นอกระบบให้กับประชาชนเสร็จสิ้นแล้วและเตรียมที่จะนำแผนดังกล่าว เข้าหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักอัยการสูงสุด สทบ. และกระทรวงการคลัง ในช่วงต้นเดือนต.ค 2560 นี้ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบโดยใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านเข้าไปดำเนินการ คาดว่าการทำงานครั้งนี้จะช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้จำนวนมาก และถือเป็นแนวทางหนึ่งตามนโยบายรัฐบาลที่กำลังต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลดน้อยลง
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา สทบ. ยังยึดตามรูปแบบการดำเนินการตามแผนที่เคยวางไว้ คือใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านฯที่สมาชิกกองทุน หรือชาวบ้านที่ประสบปัญหาเข้ามาบริหารจัดการเองโดยมีลักษณะคล้ายๆกับกรณีที่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านไปขอกู้เงินหมุนเวียนจากกองทุนหมู่บ้านฯมาใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนปกติ แต่การดำเนินการครั้งนี้อาจมีเงื่อนไขปล่อยกู้ให้ลูกหนี้นำเงินที่ได้ไปจ่ายหนี้นอกระบบแทนการนำมาใช้เอง เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้หนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ลดความเดือดร้อนจากการถูกตามทวงหนี้และลูกหนี้ก็จะเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนโดยการดูแลนั้น กองทุนหมู่บ้านจะช่วยเหลือฝึกอาชีพให้สมาชิกรายนั้น เพื่อให้มีการประกอบอาชีพและคืนเงินให้กับกองทุนต่อไป
ทั้งนี้การดำเนินการตามแนวทางแก้ปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่มาตรการบังคับ และตอนนี้มีบางกองทุนหมู่บ้านฯ พร้อมเข้ามาร่วมมือช่วยเหลือลูกหนี้โดยส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีศักยภาพในระดับเกรดเอ และบี ซึ่งบางกองทุนมีเงินหมุนเวียนสูงหลายสิบล้านบาท และหากกองทุนใดตั้งใจจะช่วยเหลือ และมีเงินไม่เพียงพอก็สามารถขอจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารของรัฐที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทมาดำเนินการได้ แต่การช่วยเหลือคงต้องดูศักยภาพของกองทุนด้วยว่า ต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อช่วยแล้วจะไม่ส่งผลกระทบกับสถานะของกองทุนหรือต้องเจอประสบปัญหาตามมา ในส่วนการเตรียมความพร้อมของกองทุนหมู่บ้าน สทบ.
กำลังสำรวจสถานะของกองทุนหมู่บ้านฯ ทั้งหมดที่มีจำนวนกว่า 79,595 แห่งทั่วประเทศเพื่อจัดกลุ่มกองทุนที่มีศักยภาพที่ดี หรือกองทุนที่มีฐานะเป็นกองทุนเกรดเอและบี ออกมาว่ามีจำนวนเท่าใดและกองทุนที่อยู่ในเกรดซี และดีเท่าใด คาดว่าในเร็วๆนี้จะสามารถสรุปข้อมูลออกมาได้ เบื้องต้นมีกองทุน ที่อยู่ในเกรดระดับดี 70-80% ส่วนกองทุนที่มีปัญหาหนี้เสียมีไม่เกิน10%
นอกจากการช่วยเหลือเรื่องหนี้นอกระบบแล้ว สทบ.ยังได้สนับสนุนให้สมาชิกได้ออมมากขึ้น โดย สทบ.ได้ลงนามบันทึกของข้อตกลงร่วมมือกับกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ นำเงินที่มีเหลือใช้ไปออมกับ กอช. เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต และช่วยเข้าไปร่วมสนับสนุนเผยแพร่ความรู้และติดตามดูแลสมาชิก กอช.ได้เพิ่มมากขึ้น โดยในขณะนี้ กอช. ได้จัดทำแผนการทำงานในปี 2560 - 2561 ออกมาแล้ว เพื่อดูว่าสทบ. จะเข้าไปร่วมได้อย่างไรบ้าง
ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ สทบ.ยังเตรียมรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ให้กับที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.)ที่มีนาย สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณา โดยเฉพาะในโครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ กรอบวงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ให้กองทุนไปต่อยอดโครงการเดิม หรือทำโครงการใหม่ในวงเงิน 2 แสนบาท
ในการดำเนินงานล่าสุดที่ประชุมกทบ.ได้อนุมัติงบประมาณลงไปแล้วประมาณ 65% ซึ่งในการประชุมปลายเดือน ก.ย นี้ สทบ.จะเสนอโครงการของหมู่บ้านที่พร้อมเข้าไปขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม คาดว่า ภายในสิ้นเดือนก.ย. นี้จะสามารถจัดสรรเงินลงไปได้ประมาณ 70 -75% ส่วนที่เหลือคงต้องมาดูในรายละเอียดต่อไปว่า จะดำเนินการอย่างไร เพราะโครงการนี้ได้กำหนดให้แต่ละกองทุนเสนอโครงการมาภายในเดือนก.ย.นี้