กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--มรภ.สงขลา
ทีมที่ปรึกษาจาก มรภ.สงขลา ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มคลัสเตอร์มะพร้าว จ.สตูล สร้างแบรนด์เจลอาบน้ำ"บลูโคโค่" เพิ่มมูลค่าผลิตผลท้องถิ่น คว้ารองอันดับ 1 ประกวดแบรนด์และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไทย
น.ส.อมรรัตน์ บุญสว่าง อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบ โปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมมะพร้าว รวมถึงห่วงโซ่การผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 3,300 ราย จากพื้นที่เป้าหมาย 18 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา สตูล ปัตตานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก นครสวรรค์ เลย ขอนแก่น หนองคาย นครราชสีมาร่วมกับสระบุรี และ ร้อยเอ็ด ซึ่งอาจารย์ประจำสาขาการออกแบบ โปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ และอาจารย์จากวิทยาลัยนวัตกรรม มรภ.สงขลา ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์มะพร้าว โดย อ.อมรรัตน์ บุญสว่างดูแล จ.สตูล (บลูโคโค่) อ.วงศ์วรุฒ อินตะนัย ดูแล จ.ปัตตานี (มะพร้าวคั่ว) และ ดร.นวิทย์ เอมเอก ดูแล จ.พังงา (น้ำมันสกัดเย็น) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบส่งเข้าโครงการประกวดและประชาสัมพันธ์แบรนด์มะพร้าวไทยและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไทย เมื่อวันที่ 26 ก.ย.60 ผลปรากฏว่าผลิตภัณฑ์เจลอาบน้ำบลูโคโค่ (BLUE COCO) จากคลัสเตอร์มะพร้าว จ.สตูล ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
"จ.สตูล อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีสวนผลไม้ปลูกแซมตลอดทาง โดยมะพร้าวกำลังออกผลผลิตพร้อมรอจำหน่ายหลายไร่ และสามารถให้ผลผลิตได้อีกหลายปี นอกจากการจำหน่ายมะพร้าวกะทิในชุมชนแล้ว ต้องการขยายตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมะพร้าว จึงเป็นที่มาของ บลูโคโค่ ชาวเวอเจล พร้อมเม็นทอลให้ความเย็นสดชื่น กลิ่นโปโลสปอร์ต หอมสไตล์ยุโรป ผสมน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เพื่อเพิ่มความนุ่มของผิว ภายใต้สโลแกนผลิตภัณฑ์คุณภาพจากมะพร้าวพันธุ์พื้นถิ่น กลิ่นหอม-เย็นสดชื่น ใกล้ชิดกลิ่นไอชายทะเล ทุกครั้งที่ได้ลูบไล้ พร้อมต้อนรับทุกท่านมาสัมผัสธรรมชาติอันงดงาม ซึ่งต้องขอขอบคุณ สสว. สถาบันอาหาร พระจอมเกล้าพระนครเหนือ คลัสเตอร์มะพร้าว จ.สตูล คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีส่วนช่วยให้เราประสบความสำเร็จ"น.ส.อมรรัตน์ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักออกแบบและที่ปรึกษาโครงการที่มีส่วนร่วมในการดูแลผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้น ตนมองว่าผลงานจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเมื่อเกษตรกรสามารถผลิตงานได้ตามคำสั่งซื้อ ตลอดจนจัดการเรื่องกระบวนการบรรจุ การจัดส่ง และส่งเสริมการขายอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการติดตามผลและช่วยเหลือเกษตรกรอีกสักระยะหนึ่ง คาดว่าอย่างน้อยประมาณ 1 ปี แต่โครงการของ สสว. และสถาบันอาหารนั้นปิดงบประมาณสิ้นสุดเดือนกันยายนนี้ งานที่เหลือคือความช่วยเหลือที่ทางสาขาการออกแบบและ มรภ.สงขลา จะต้องดูแลบริการวิชาการในพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัย โดยก่อนปิดงบฯ สถาบันอาหารจะมอบเงินสนับสนุนการดำเนินงานให้คลัสเตอร์ละ 100,000 บาท
ในส่วนนี้ตนและทีมงานได้ประชุมกับเกษตรกรถึงสิ่งที่เขาต้องการเพิ่ม ได้แก่ การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของบลูโคโค่ ให้ได้มาตรฐานรับรองคุณภาพ โดยตรวจผ่านศูนย์วิจัยของคณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งยังต้องการสูตรทำวุ้นมะพร้าวน้ำหอม ทำกะทิกล่อง ซึ่งจำเป็นต้องบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับอาจารย์ในสาขาอื่นๆ กับมหาวิทยาลัยด้วย โดยที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับทางคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีเกษตรเกษตร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในโครงการอื่นๆ รวมถึงนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรการออกแบบ ที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการให้เกษตรกร ช่วยเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และช่วยงานออกแบบในครั้งนี้ด้วย