กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ.จัดทำประชาพิจารณ์ ร่างประกาศคณะกรรมการ การแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหน่วยปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อยกมาตรฐานการให้บริการของหน่วยปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ทั้งในระบบและนอกระบบ พร้อมเชื่อจะทำให้การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุมีประสิทธิภาพและช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากยิ่งขึ้น
ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ทสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ พ.ศ. ......โดยมีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมรับฟังความเห็นในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า การที่ สพฉ.เป็นเจ้าภาพในการทำประชาพิจารณ์ร่างประกาศคณะกรรมการ การแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหน่วยปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ พ.ศ.... ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากตั้งแต่มีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 เป็นต้นมา คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ กพฉ.ในอดีต มีการออกกฎหมายลูกในหลายฉบับ โดยเฉพาะในมาตรา 29 (1) กพฉ.ที่ได้ประกาศ ขอบเขตอำนาจหน้าที่รับผิดชอบและข้อจำกัดของผู้ปฏิบัติการโดยกลุ่มที่เป็นวิชาชีพ ซึ่งเป็นแพทย์พยาบาลจะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ในกลุ่มปฏิบัติงานที่ไม่ใช่แพทย์และพยาบาล ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแต่อย่างใด โดยจะเห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าพูดถึงอำนาจหน้าที่ของกพฉ.ตามมาตรา 29 กพฉ.ในอดีต ยังไม่มีการออกประกาศ ประเภทระดับอำนาจหน้าที่ ของเขตการรับผิดชอบและข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ
"ในปัจจุบัน จะพบว่ามีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเกิดขึ้น ทั้งในระบบ และนอกระบบ จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น การมีรถมอเตอร์ไซด์ มีคนขับ และมีสัญญาณไฟฉุกเฉิน เพื่อขอทางแล้ววิ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร ที่จะไปช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งถือว่าพวกนี้ผิดกฎหมาย รวมทั้งกรณีมีรถขนอุปกรณ์เพื่อไปช่วยชีวิต เช่น อุปกรณ์ตัดถ่าง แล้วไปติดสัญญาณไฟฉุกเฉินเพื่อขอทาง สิ่งเหล่านี้ ยังไม่มีการรับรองรถประเภทนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีการปฏิบัติการจริงแต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง หรืออาจจะมีรถตู้สีขาว คล้ายกับรถฉุกเฉิน ไปรับบริการประชาชน ซึ่งบางส่วนมีการเรียกเก็บเงิน จึงทำให้ประชาชนเกิดความสับสน นำมาซึ่งปัญหาของสังคมตามมา ด้วยเหตุนี้ทางสพฉ.จึงจำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์ ร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อยกหน่วยปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ ให้มีมาตรฐาน"เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าวต่อว่า ในตัวสาระของร่างประกาศฉบับนี้ จะอยู่ในหมวดที่ 1 ที่พูดถึงหน่วยปฏิบัติการ ที่มีอยู่ 2 ประเภท คือ 1. ปฏิบัติการด้านการแพทย์ และ 2. ปฏิบัติการด้านอำนวยการ ซึ่งปัจจุบันในการดำเนินการ มักไปทับซ้อน กับสถานพยาบาล หรือ พระราชบัญญัติสถานพยาบาลในหลายข้อ โดยเฉพาะในระดับปฏิบัติการ ขั้นสูง ซึ่งตรงนี้โดยอำนาจหน้าที่ สพฉ.ไม่มีอำนาจ ในการควบคุมกำกับดูแล เพราะฉะนั้นอาจทำให้เกิดความสับสน ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ สพฉ.โดยตรงหรือไม่ โดยในส่วนของสพฉ.เองมีอำนาจหน้าที่ คอยสนับสนุนเท่านั้น
"ในส่วนของร่างกฎ หมายใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้มีการแบ่งประเภท หน่วยปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ ไว้อยู่ 3 ประเภท ประกอบด้วย1.ประเภทช่วยเวชกรรมโดยไม่ลำเลียงผู้ป่วย 2.ประเภทช่วยเวชกรรมลำเลียงผู้ป่วย และ 3. ประเภทวิชาชีพ ซึ่งกฎหมายนี้ไว้สำหรับการสนับสนุน ไม่ใช่การกำกับ ขณะที่หน่วยปฏิบัติการด้านการอำนวยการ ของเดิมมีศูนย์ 1669 ทั่วประเทศ ซึ่ง1669 เดิม มี 3 กลุ่มใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1. กลุ่มที่มีเพียงพนักงานรับแจ้ง ไม่มีพยาบาล 2.มีแค่พยาบาลกำกับ ไม่มีแพทย์ และ3. มีแพทย์อย่างเดียว ทั้งหมดนี้เรา เอาของเดิมที่มีอยู่มาจัดลำดับ เพื่อให้เกิดเป็นรายละเอียดให้เป็นมาตรฐานในการเพิ่มขีดความสามารถเกี่ยวกับการให้บริการ"เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ
อย่างไรก็ตามขอเรียนว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ เพื่อเป็นการชี้ทิศทาง ให้ท้องถิ่น รวมทั้งพื้นที่ ได้เตรียมตัว เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อออกเป็นบทเฉพาะกาลแล้ว คาดว่า อีก 3 ปีข้างหน้าถึงจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้หน่วยปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้เตรียมตัวเพื่อไปสู่อนาคต และขอยืนยันว่า แผนประกาศการใช้กฎหมายนี้ไม่กระทบต่อการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ต้องผลิตบุคลากรให้ทันตามกฎหมายใหม่ ตามที่หลายฝ่ายกังวลแน่นอน เพราะถือว่าเป็นการปูพื้นฐาน เกี่ยวกับการบริการของหน่วยปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
"ยกตัวอย่างเมื่อเราจะสร้างตึก เราบอกว่า ยังไม่โต๊ะเก้าอี้ คือ ตึกจะสร้างขึ้นทันของหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ถ้าเราสร้างก่อน เมื่อเสร็จชั้น 1 หรือชั้น 2 เข้าไปอยู่ก่อนก็ได้ ในปัจจุบันจะเห็นว่า แม้เราจะมีแพทย์พยาบาล อยู่จำนวนมาก แต่จะมีคุณภาพมากแค่ไหนไม่รู้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จำต้องมีแพทย์อำนวยการเข้ามาบริหารจัดการผู้ป่วย ตั้งแต่เกิดเหตุ จนถึงตอนเข้าโรงพยาบาล โดยไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หรือเพียงรอให้มีการหามผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล เราอยากให้แพทย์พยาบาลได้เห็นผู้ป่วยยังที่เกิดเหตุ ตั้งแต่นำส่งจนถึงโรงพยาบาล แล้วทำการรักษาต่อได้เลย นี่คือภาพที่เราอยากเห็น.ในอนาคตหลังมีการประกาศใช้กฎหมาย"เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าว