กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
สคช. จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงานลงนามความร่วมมือในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน ครั้งที่ 2 และเตรียมเชื่อมโยงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิแห่งชาติ 8 ระดับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
นายนคร ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยมี ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
และนายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมลงนาม เปิดเผยว่า การพัฒนากำลังคนของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและมาตรฐานอาชีพ ให้สอดคล้องกันตามมาตรฐานสากล เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศและการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบอาชีพสาขาต่างๆ การบูรณาการความร่วมมือ การเทียบเคียงมาตรฐานฝีมือแรงงานและมาตรฐานอาชีพ การพัฒนาตามแนวทางกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การยกระดับศักยภาพการทดสอบทักษะและสมรรถนะ ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดการยอมรับคุณวุฒิวิชาชีพ จะส่งเสริมการดำเนินงานตามพันธกิจซึ่งกันและกัน ช่วยขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาทุนมนุษย์ให้ครอบคลุมมิติต่างๆมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุเป้าหมายสุดท้าย กล่าวคือ เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับกำลังคน
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยหลังจากความร่วมมือดังกล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการมีมาตรฐานฝีมือแรงงานมาโดยตลอด ที่ผ่านมามีการใช้เกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นองค์ประกอบในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างเพื่อให้แรงงานฝีมือได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม รวมทั้งกระตุ้นให้แรงงานไทยเห็นความสำคัญของการมีมาตรฐานฝีมือแรงงาน และขวนขวายที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จะสอดคล้องกับ 8 วาระปฏิรูป กระทรวงแรงงาน "การเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0" ของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงแรงงานได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือฝีมือแรงงานแห่งชาติ จำนวน 67 สาขาอาชีพ การบรรลุจะเป้าหมายจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จึงร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาและผลักดันระบบคุณวุฒิวิชาชีพของไทย ด้วยการสนับสนุนกลุ่มอาชีพให้จัดทำมาตรฐานอาชีพให้ได้ในระดับสากล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับคุณวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ
ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า แนวทางความร่วมมือจะมีตั้งแต่การเทียบเคียงหรือเชื่อมโยงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิแห่งชาติ 8 ระดับ เพื่อส่งเสริมการพัฒนากำลังคน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์สมรรถนะรายสาขา ต่อยอดการจัดทำหลักสูตรหรือการจัดทำมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ ร่วมกันบูรณาการข้อมูลเพื่อลดการซ้ำซ้อนการจัดทำมาตรฐาน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการของทั้งสองหน่วยงานในการตรวจสอบดูแลรับผิดชอบต่างๆและขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว และที่สำคัญจะมีการผลักดันคุณวุฒิวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับในระบบการการจ้างงานทั้งภาครัฐและเอกชน
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 มีพันธกิจที่สำคัญ คือ สร้างการรับรู้ต่อระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพให้เป็นที่รู้จัก และผลักดันให้เกิดความตระหนักถึงประโยชน์ และมีการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพไปใช้อย่างกว้างขวาง และสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพมีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และประเทศไทย 4.0 ตลอดจนนำระบบศูนย์กลางเครือข่ายข้อมูล สารสนเทศและการบริการเกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้สนับสนุนบริการระบบคุณวุฒิวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากพันธกิจดังกล่าว สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) 8 ระดับ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อส่งเสริมการพัฒนากำลังคนของประเทศ และร่วมกันในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและมาตรฐานอาชีพ สนับสนุนส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและมาตรฐานอาชีพ รวมถึงพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบกิจการและเหมาะสมแก่การนำไปปรับใช้ในสถานประกอบกิจการ และร่วมกันผลักดันคุณวุฒิวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับในระบบการจ้างงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนเทียบเคียงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติกับมาตรฐานอาชีพ และร่วมกันประชาสัมพันธ์ภารกิจของแต่ละหน่วยงานให้เป็นที่รับรู้และที่ยอมรับของทุกภาคส่วนต่อไป