กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หารือร่วมกับ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองมาตรฐานและกำกับความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันเรื่องมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ในการรองรับ "ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน" ในปี 2561
นายพงษ์ภาณุ กล่าวสรุปข้อหารือซึ่งมีประเด็นหลักๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่
- เสนอการป้องกันอุบัติเหตุ และการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวให้เป็นวาระแห่งชาติ
- ปรับปรุงระบบการรายงานสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของนักท่องเที่ยว
- การบังคับใช้กฎหมายธุรกิจนำเที่ยวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกองมาตรฐานและกำกับความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเรื่องการจัดทำข้อมูลสถิติเกี่ยวกับปัญหาเรื่องร้องเรียน คดีความอื่นๆ ศึกษา วิเคราะห์ ปัญหาและแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการการให้ความช่วยเหลือ การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานทูต เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว โดยมีพื้นที่ให้บริการนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศรวมถึงท่าอากาศยานอีกด้วย ปัจจุบันมีศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจำนวน 16 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, เชียงใหม่,เชียงราย,อุบลราชธานี, สุโขทัย, กาญจนบุรี, ชลบุรี, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, สงขลา, กระบี่, พังงา,อำเภอหัวหิน, พระนครศรีอยุธยา, อุดรธานีโดยมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวรวม 200 คน
โดยในปี 2561กระทรวงฯ จะเปิดศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวอีก 30 แห่ง ใน 30 จังหวัด ประกอบด้วยภาคเหนือ 8 แห่งได้แก่ แม่ฮ่องสอน, น่าน, ตาก, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก และลำปางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9แห่ง ได้แก่ เลย, สุรินทร์, บุรีรัมย์, นครพนม, มุกดาหาร, ศรีสะเกษ, ขอนแก่น, หนองคาย และ นครราชสีมา ภาคตะวันออก 5 แห่ง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, สระแก้ว, จันทบุรี, ตราด และ ระยอง ภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ 6 แห่ง ได้แก่ สตูล,ระนอง, ตรัง, ชุมพร, นครศรีธรรมราชและพัทลุง โดยมีเจ้าหน้าที่มีสามารถสื่อสารภาษาที่ 3 ในภาษาต่างๆ ได้ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่นภาษาเกาหลี ภาษาอาหรับ เป็นต้น และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
"การประชุมหารือในครั้งนี้นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการวางแนวทางร่วมกันเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่น ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รับปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน 2561 ที่กำลังจะมาถึง เป็นการสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกให้กับประเทศ และผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี" ปลัดฯพงษ์ภาณุ กล่าวทิ้งท้าย