กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะผู้ขับขี่เรียนรู้เทคนิคการแก้ไขเหตุฉุกเฉินกรณีเบรกแตก โดยเหยียบแป้นเบรกแรงๆ ถี่ๆ ให้ลึกกว่าปกติ ถอนคันเร่งและลดความเร็ว เพื่อให้เครื่องยนต์เกิดอาการหน่วง จะช่วยลดความเร็วลงได้ ดึงเบรกมือขึ้นช้าๆ เพื่อชะลอความเร็วของล้อหลัง ยึดจับพวงมาลัยให้มั่น พร้อมเปิดไฟฉุกเฉิน และบีบแตร เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง กรณีเบรกแตกบนทางลาดชัน ให้ลดเกียร์ต่ำลงเพื่อชะลอความเร็ว เมื่อมาถึงทางที่มีความลาดชันน้อย ให้ใช้เบรกมือในการหยุดรถ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า แม้ผู้ขับขี่จะมีความพร้อมในการขับรถ แต่สถานการณ์ฉุกเฉินอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ขอแนะวิธีแก้ไขเหตุฉุกเฉินกรณีเบรกแตก ดังนี้ อาการ ขณะเหยียบเบรกแล้วแป้นเบรกจมลึกจนกระทบกับพื้นรถ เบรกไม่มีแรง เหยียบแป้นเบรกไม่ลง หรือเหยียบเบรกแล้วความเร็วของรถคงที่ สาเหตุ มักเกิดจากน้ำมันเบรกรั่วซึม ผ้าเบรกสึกจากการใช้งานเป็นเวลานาน รวมถึงส่วนประกอบในระบบเบรกหลุด หลวม ชำรุด ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะผ้าเบรก ทำให้เกิดความผิดปกติจากการเสียดสีกับล้อ ยาง และระบบช่วงล่างของรถ วิธีแก้ไขกรณีเบรกแตก เหยียบแป้นเบรกแรงๆ ถี่ๆ ให้ลึกกว่าปกติ เพื่อดึงประสิทธิภาพที่เหลืออยู่ของระบบเบรกมาใช้ จะช่วยชะลอความเร็วรถได้ในระดับหนึ่ง ถอนคันเร่งและลดความเร็ว เพื่อให้เครื่องยนต์เกิดการหน่วงจะช่วยลดความเร็วลงได้ กรณีเป็นรถเกียร์ธรรมดา ให้เหยียบคลัตช์และลดตำแหน่งเกียร์ ลงตามลำดับความเร็วของรถ กรณีรถเกียร์อัตโนมัติ ให้กดปุ่ม Overdrive on หรือเปลี่ยนตำแหน่งจากเกียร์ D เป็น 3 ห้ามเปลี่ยนเป็นตำแหน่ง L โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้รถเกิดอาการกระชากจนเสียหลัก หรือไถลออกนอกเส้นทาง ดึงเบรกมือขึ้นช้าๆ เพื่อชะลอความเร็วของล้อหลัง ห้ามดึงเบรกมือแบบกระชาก เพราะจะทำให้ล้อหลังล็อก จนรถเสียการทรงตัวและ ไถลออกนอกเส้นทาง เพื่อความปลอดภัย ควรใช้เบรกมือร่วมกับการใช้เกียร์ต่ำ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการชะลอความเร็วรถ ยึดจับพวงมาลัยให้มั่น โดยเฉพาะรถที่ใช้ความเร็วสูง ไม่ควรบังคับพวงมาลัยส่ายไปมา เพราะอาจทำให้รถเสียการทรงตัว พร้อมเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน และบีบแตร เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง จากนั้นให้พยายามบังคับพวงมาลัย และนำรถจอดริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย กรณีเบรกแตกบนทางลาดชัน ให้ลดเกียร์ลงต่ำเพื่อชะลอความเร็ว เมื่อรถวิ่งมาถึงช่วงที่เป็นทางลาด และมีความชันน้อย ให้ใช้เบรกมือช่วยในการหยุดรถ ทั้งนี้ การเรียนรู้เทคนิคการแก้ไขเหตุฉุกเฉิน กรณีเบรกแตก จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง