กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กรมปศุสัตว์
กรมปศุสัตว์ ชี้สภาพอากาศเปลี่ยนกระทบสุขภาพสัตว์ปีกโดยตรง เสี่ยงอ่อนแอติดเชื้อโรคได้ง่าย สั่งการทุกจังหวัดคุมเข้มมาตรการเฝ้าระวังโรคสัตว์ปีก แนะเกษตรกรดูแลสุขภาพสัตว์ใกล้ชิด เตรียมโรงเรือน-จัดสภาพภายในให้เหมาะสม ช่วยป้องกันโรคระบาดสัตว์ได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูฝนสู่ฤดูหนาว ระหว่างวันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งฝนตกหนักทำให้อากาศค่อนข้างชื้น สลับกับอากาศร้อนจัดในช่วงกลางวัน และหนาวเย็นลงในตอนกลางคืน สภาวะเช่นนี้ทำให้สัตว์เลี้ยงมีภูมิคุ้มกันต่ำลง กรมปศุสัตว์จึงเร่งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอ เพิ่มความถี่ในการออกตรวจเยี่ยมและให้คำแนะนำ ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในวิธีการเลี้ยงและการป้องกันโรคแก่เกษตรกร พร้อมค้นหาสัตว์ป่วยหรือตายที่มีอาการคล้ายโรคระบาด หากตรวจพบจะดำเนินการตามหลักการที่ถูกต้องทันที
"ขอให้เกษตรกรหมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสัตว์ปีกที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น จึงอาจเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคหลอดลมอักเสบ และโรคอหิวาต์ ขณะเดียวกันช่วงนี้ยังเป็นฤดูกาลอพยพของนกจากต่างถิ่น ที่อาจจะนำเชื้อโรคเข้ามาด้วย ขอแนะนำให้เกษตรกรจัดเตรียมโรงเรือนที่สามารถป้องกันลมและฝนได้ กรณีโรงเรือนแบบเปิดต้องเพิ่มตาข่ายป้องกันสัตว์พาหะนำโรค หากอากาศเปลี่ยนแปลงมากควรให้วิตามินเสริม 3-5 วันติดต่อกัน"
น.สพ.สรวิศ กล่าวอีกว่า เกษตรกรควรย้ายสัตว์ปีกที่เลี้ยงหลังบ้านเข้าเลี้ยงในโรงเรือนทั้งหมด เน้นการจัดการโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ดูแลโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดี ในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและลมแรง ควรเพิ่มผ้าใบด้านข้างโรงเรือน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์โดนละอองฝน และเข้มงวดกับการใช้ยาฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าฟาร์มและโรงเลี้ยง ควรให้อาหารและน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ที่สำคัญต้องทำวัคซีนป้องกันโรคตามโปรแกรมที่กรมปศุสัตว์กำหนด สัตว์จะปลอดโรคและแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา ช่วยลดอัตราการป่วย-ตาย และให้ผลผลิตดีขึ้น
สำหรับการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และลาว ตามรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) กรมปศุสัตว์มีหน่วยงานเฉพาะที่เฝ้าติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออกตามแนวชายแดน และเจ้าหน้าที่ด่านกักสัตว์ได้ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อยานพาหนะต้องสังสัยที่จุดผ่านแดน ทั้งรถยนต์ รถจักรยาน และรถเข็น
โฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคสัตว์จากกรมปศุสัตว์และหน่วยงานสาธารณสุขเป็นหลัก รวมทั้งสามารถขอคำแนะนำและสอบถามข้อมูลต่างๆ ที่สำนักงานปศุสัตว์ใกล้บ้าน ในวันและเวลาราชการ และขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ โปรดแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแจ้งผ่านสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 0-9630-11946 ตลอด 24 ชั่วโมง./
ข้อมูล :กลุ่มควบคุมป้องกันโรคสัตว์ปีก สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์