ฮาลาลไทย...ในเวทีโลก

ข่าวทั่วไป Monday October 2, 2017 09:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--PMG Corporation เครื่องหมายฮาลาลของไทยก้าวสู่มาตรฐานระดับนานาชาติ หลังจากที่องค์กร OIC รับไทยเป็นสมาชิก SMIIC (The Standards and Metrology Institute for the Islamic Countries) ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม จัดตั้งโดยความเห็นร่วมกันของประเทศองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศอิสลาม ซึ่งทั้ง 57 ประเทศมุสลิมเปิดรับประเทศไทยในเรื่องของฮาลาล จากข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ส่วนแบ่งของประเทศไทยในตลาดฮาลาลโลกอยู่อันดับที่ 10 คาดการณ์ว่าในปี 2560 จะขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1-5 ดร.บรรจง ไวทยเมธา รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "ก้าวสู่ธุรกิจฮาลาลไทย ก้าวไกลฮาลาลโลก" ภายในงานสัมมนา "เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่ตลาดฮาลาลโลก" จัดโดย Bangkokbanksme.com เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้เอสเอ็มอีไทย ก้าวเข้าสู่เวทีเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีศักยภาพ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้ หลักการว่าด้วยฮาลาล เริ่มต้นจากหลักการว่าด้วยฮาลาล "ฮาลาล" ไม่ใช่แค่อาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่คือสิ่งที่ครอบคลุมทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน ซึ่งฮาลาลมีความหมายความว่าอนุมัติ ตรงข้ามกับ "หะรอม" หมายถึงไม่อนุมัติ คือห้าม และเมื่อนำมาใช้ทางศาสนาจะมีความหมายว่าสิ่งที่ศาสนาห้าม และจำเป็นต้องมี "ตอยยิบ" ซึ่งก็คือความถูกต้องในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร โดยแนวทางในการเตรียมอาหารฮาลาลคือ ต้องสอดคล้องกับแนวทางอิสลาม ไม่ปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม หรือเป็นหะรอม เช่น สุกร ก้อนเลือด น้ำลายสุนัข เหล้า หรือสิ่งมึนเมา และไม่มีสิ่งที่ต้องสงสัยว่าเป็นฮาลาล หรือ หะรอม ส่วนความหมายที่ชัดเจนของตอยยิบ คือ ถูกหลักอนามัยปลอดสิ่งที่เป็นอันตราย ให้คุณค่าทางโภชนาการ ดีต่อสุขภาพ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และได้มาตรฐานตามที่กำหนด เช่น การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ฮาลาลในมิติทางเศรษฐกิจ ฮาลาลเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่มีมูลค่าประมาณ 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบไปด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น อาหาร ภัตตาคาร โรงแรม เครื่องสำอาง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการไทยทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดนี้ได้ ฮาลาล คือวิถีของมุสลิม ปัจจุบันเป็นเศรษฐกิจโลก ตลาดเป้าหมายที่น่าสนใจคือ 1.กลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) 57 ประเทศ 2.กลุ่มประเทศซึ่งไม่ใช่มุสลิมแต่นิยมบริโภคอาหารฮาลาล เช่นชาวยุโรปและสหรัฐอเมริกา 3.กลุ่มประเทศที่ชาวมุสลิมนิยมท่องเที่ยว เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ ปัจจัยกำหนดเศรษฐกิจฮาลาล ปัจจุบันผู้คนบริโภคสินค้าฮาลาลเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด คือ 1.ประชากรมุสลิมเพิ่มมากขึ้น 2.รายได้และอำนาจซื้อของมุสลิมในแต่ละประเทศสูงขึ้น 3.ความเชื่อมั่นในองค์กรที่ผ่านการรับรองฮาลาล ซึ่งประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นเป็นอย่างดีจากทั่วโลก 4.ค่านิยมของผู้บริโภคทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม จากการยอมรับสินค้าฮาลาลในแง่การยอมรับคุณภาพและความปลอดภัย ความโดดเด่นของฮาลาลไทย ความโดดเด่นของฮาลาลไทย คือจุดแข็งที่จะนำเสนอให้แต่ละประเทศรับรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ฮาลาลนั้นเชื่อมั่นได้และมีมาตรฐานที่ดี มีการรับรองจากศาสนาทางวิทยาศาสตร์รองรับ มีระบบ Hal-Q โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการบริหารจัดการเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล โดยการบูรณาการมาตรฐานฮาลาลเข้ากับระบบความปลอดภัยอาหารในการผลิตอาหารฮาลาลให้ถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติศาสนาศาสนาอิสลาม สะอาด และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคมุสลิมมั่นใจในอาหารฮาลาลที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมว่าไม่มีการปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามทางศาสนา และวิธีการผลิตเป็นไปตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพในมิติต่างๆ รวมทั้งความปลอดภัยทางจิตวิญญาณด้วย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีโรงงานสามารถเข้าสู่ระบบได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทางศูนย์จะทำการวางระบบในการนำเข้าส่งออกสินค้า และให้คำแนะนำสำหรับปัญหาในการควบคุมผลิตภัณฑ์ให้ผ่านมาตรฐานฮาลาล โดยระบบ Hal-Q ที่ได้รับรางวัลอันดับหนึ่งของโลกในการประกวดที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจุดนี้จะเป็นหลักประกันในกระบวนการผลิตของประเทศไทย
แท็ก อิสลาม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ