กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลโพลเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อ บริษัท น้ำเมา จากประชาชนทุกสาขาอาชีพจำนวน 5,407 คน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม – 29 กันยายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาพบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.3 มีความคิดเห็นต่อกลุ่มบริษัท น้ำเมา ว่า ต้องคืนกำไรให้สังคมในแบบ ติดตั้งกล้อง CCTV จุดเสี่ยงควบคุมพฤติกรรมขับรถเมาไม่ขับ ลดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท บริจาคตรงให้โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยจากดื่มเหล้ามากบริการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น แทนการแจกผ้าห่มเพียงหน้าหนาวเพียงอย่างเดียว ร้อยละ 80.3 ระบุ ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ เช่น รณรงค์ให้ความรู้ดื่มเพื่อสุขภาพไม่เป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดื่มและการเป็นที่ยอมรับจากประชาชน
อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของบริษัท น้ำเมา ในทางลบที่ค้นพบคือ ร้อยละ 76.9 ระบุ ใช้เงินในรูปแบบต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกเขา ร้อยละ 73.5 ระบุ บริจาคเงินช่วยเหลือนักการเมือง เพื่อหวังผลประโยชน์ทางนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของพวกเขา ร้อยละ 69.6 ระบุ มีอิทธิพลมากต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และร้อยละ 68.4 ระบุ เจาะตลาด เข้าถึง กลุ่มเด็ก เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามว่า "บริษัท น้ำเมาควรรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เพื่อลดอันตรายจากการดื่มเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 เห็นด้วย มีเพียงส่วนน้อยหรือร้อยละ 14.1 เท่านั้นที่ ไม่เห็นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถามว่า "เห็นด้วยหรือไม่ว่า บริษัทเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีกต่อเหยื่อเมาแล้วขับ" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 19.6 ไม่เห็นด้วย
สิ่งที่น่าพิจารณาของฝ่ายการเมือง คือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.6 ระบุ ฝ่ายการเมืองไม่ควรรับเงินบริจาคและผลประโยชน์จาก บริษัท น้ำเมา เพราะ จะนำไปสู่การ โกงกิน การทุจริตเชิงนโยบายสนับสนุนธุรกิจน้ำเมา เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำลายภาพลักษณ์ของฝ่ายการเมืองและทำให้สังคมไม่ไว้วางใจนักการเมืองได้
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลโพลนี้สอดคล้องกับผลโพลที่ทำในประเทศออสเตรเลียเมื่อเขาถามประชาชนที่นั่นและพบทัศนคติที่ใกล้เคียงกัน อาจชี้ได้ว่า คุณภาพความคิดเห็นของประชาชนคนไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ แต่หลายครั้ง มุมมองที่ดีของคนไทยถูกฝ่ายการเมืองและอิทธิพลผลประโยชน์ต่างๆ กดทับไว้ จึงน่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลและ คสช. จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อส่งต่อรัฐบาลอนาคตเพื่อสังคม ลดอันตรายจากการทำการค้าธุรกิจ น้ำเมา ทุกรูปแบบ อันเป็น ยุทธศาสตร์ทางออก (Exit Strategy) ลงจากอำนาจบริหารแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศได้อย่างสง่างาม