กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--มรภ.สงขลา
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกอนุสิทธิบัตร 2 งานวิจัยทางเทคโนโลยีเกษตร มรภ.สงขลา จากผลงานเพาะปลาดุกลูกผสม "บิ๊กลำพัน" ชูจุดเด่นเลี้ยงง่าย โตไว ทดแทนปลาดุกในธรรมชาติที่เสี่ยงสูญพันธุ์ และผลงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มรสกระเทียมพริกไทยจากเปลือกมะละกอ ช่วยลดปริมาณขยะ เพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือ
ผศ.ณิศา มาชู อาจารย์โปรแกรมวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกอนุสิทธิบัตรให้กับผลงานวิจัยของตน ในชื่อ "การประดิษฐ์กรรมวิธีเพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสมระหว่างปลาดุกลำพันและปลาดุกเทศ" ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแม่ปลาดุกลำพันกับพ่อปลาดุกเทศ จนออกมาเป็นปลาดุกชนิดใหม่ที่ตนให้ชื่อว่า ปลาดุกบิ๊กลำพัน เนื่องจากปัจจุบันปลาดุกลำพันในธรรมชาติที่มีแหล่งอาศัยในพื้นที่ป่าพรุ มีจำนวนลดน้อยลงมาก จึงจัดเป็นปลาหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งปลาดุกลำพันเป็นปลาที่มีความอดทนสูง สามารถเลี้ยงในน้ำที่มีคุณภาพต่ำได้ ตนจึงนำพ่อแม่พันธุ์ปลาดุกลำพันมาเลี้ยงในสภาพน้ำจืดทั่วไป ที่โปรแกรมวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา และนำมาเพาะขยายพันธุ์ให้อัตราการผสมติดและฟักเป็นตัว ประมาณ 40-50%
ผศ.ณิศา กล่าวว่า ลูกปลาดุกลำพันที่ได้มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า และเป็นปลาที่มีผิวหนังบางถลอกได้ง่าย ตนจึงปรับปรุงพันธุ์ด้วยการนำมาผสมข้ามพันธุ์กับปลาดุกเทศ ซึ่งเป็นปลาที่เจริญเติบโตเร็ว โดยนำปลาดุกลำพันเพศเมียมาผสมพันธุ์กับปลาดุกเทศเพศผู้ ใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียม พบว่าแม่ปลาดุกลำพันสามารถผสมข้ามพันธุ์กับพ่อปลาดุกเทศได้ มีอัตราการผสมติดและอัตราการฟักเป็นตัวประมาณ 30-40% เมื่อนำปลาดุกลูกผสมที่ได้ (ดุกลำพัน×ดุกเทศ) มาอนุบาลเปรียบเทียบกับลูกปลาดุกลำพัน และลูกปลาดุกเทศ เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าปลาดุกลูกผสมมีน้ำหนักและความยาวเฉลี่ยมากกว่าปลาดุกลำพัน แต่น้อยกว่าปลาดุกเทศ โดยที่ปลาทั้ง 3 ชนิด มีอัตราการรอดตายไม่แตกต่างกันทางสถิติ
โดยปลาดุกลูกผสมมีลักษณะเด่น คือ มีลำตัวยาว มีลายสีขาวบนลำตัวในแนวขวางเหมือนแม่ (ปลาดุกลำพัน) ทำให้มีความสวยงามและน่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็มีการเจริญเติบโตที่ดีคล้ายพ่อ (ปลาดุกเทศ) อีกทั้งยังสามารถกินอาหารสำเร็จรูปได้ดี
อาจารย์โปรแกรมวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาข้อมูลการเลี้ยงและการยอมรับของผู้บริโภคต่อปลาดุกลูกผสมชนิดนี้ให้ชัดเจน เพื่อจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า มีโอกาสพัฒนาเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยรักษาพันธุ์ของปลาดุกลำพันไว้ในทางอ้อม เนื่องจากต้องมีผู้สนใจเพาะเลี้ยงเพื่อป้อนฟาร์มผลิตปลาดุกลูกผสม ระหว่างปลาดุกลำพันกับปลาดุกเทศด้วยเช่นกัน
ในโอกาสเดียวกันนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้ออกอนุสิทธิบัตรให้กับผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มรสกระเทียมพริกไทยจากเปลือกมะละกอ จัดทำโดย ดร.ธิติมา พานิชย์ประธานโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และคณะ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลืออย่างเปลือกมะละกอ ช่วยลดปริมาณขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเศษเหลือ อีกทั้งข้อมูลที่ได้จากการศึกษายังสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการนำเปลือกมะละกอมาใช้จัดทำผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มในระดับอุตสาหกรรม และนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผงหมักเนื้อนุ่มรสชาติอื่นๆ ได้ต่อไป