กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กรมประมง
ภายใต้สถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ กลับมีอีกหนึ่งความพยายามของหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยกันผลักดันและฟื้นคืนทรัพยากรสัตว์น้ำตลอดจนการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้ให้กับประชาชนชาวไทยทั้งน้ำจืด น้ำทะเล รวมถึงประชาชนรอบชายฝั่งหน่วยงานนั้นก็คือ "กรมประมง" ธนาคารเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้ชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อช่วยฟื้นฟูสัตว์น้ำให้แก่ชุมชนในเขตพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย โดยเน้นรูปแบบที่ชุมชนมีส่วนร่วม ดำเนินการต่อได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ แต่ก่อประโยชน์ให้กับธรรมชาติเศรษฐกิจ และปากท้องของคนในชุมชนได้อย่างมหาศาล
นายมีศักดิ์ ภักดีคง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการบริหารจัดการผลผลิตเกษตรเพื่อให้ชุมชนเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรเพื่อสนองต่อความมั่นคงในด้านอาหารและสร้างรายได้ในครัวเรือน จึงมีได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดได้จัดตั้งธนาคารผลผลิตการเกษตรขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารผลผลิตด้านเกษตร ในส่วนของกรมประมงได้ดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงโดยการส่งเสริมและสนับสนุนจัดตั้งระบบธนาคารผลผลิตการเกษตรขึ้น โดยเน้นการเพิ่มผลผลิตด้านประมงเพื่อให้ชุมชนเกษตรสามารถบริหารจัดการผลผลิต แลก ยืมผลผลิตจากสัตว์น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารผลผลิตและเกษตรด้านประมงจะดำเนินการโดยอาศัยแหล่งน้ำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการจัดการโดยความร่วมมือของชุมชนในการให้ความรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแหล่งธรรมชาติที่บริหารจัดการโดยคณะกรรมการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อให้แหล่งน้ำเป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์น้ำชุมชนสามารถรองรับความต้องการการบริโภคอาหาร เสริมสร้างโปรตีนประเภทสัตว์น้ำของชุมชนโดยเน้นการบริโภคและสร้างรายได้เพื่อความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนเกษตรกร
นายเดชา รอดระรัง ประมงจังหวัดยโสธร กล่าวว่า สำนักงานประมงจังหวัดยโสธรได้คัดเลือกแหล่งน้ำในพื้นที่หลายพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนในแหล่งน้ำ สุดท้ายได้เลือกฝายร่องแห่บ้านดอนผึ้ง ตำบลบากเรือ อำเภอมหาชัยชนะ จังหวัดยโสธร ครอบคลุมพื้นที่ 24 ไร่ เป็นสถานที่ดำเนินการก่อตั้งธนาคารสัตว์น้ำชุมชนบ้านดอนผึ้ง ภายใต้โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมง ซึ่งมีครัวเรือนเข้าร่วมเข้าร่วมโครงการจำนวน 210 ครัวเรือน โดยจุดมุ่งหมายหลักๆ จะแบ่งเป็น 2 ประการคือ 1. ชุมชนรอบแหล่งน้ำจะต้องได้บริโภคสัตว์น้ำมากยิ่งขึ้นซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่ 2.ชุมชนบ้านดอนผึ้งจะสามารถช่วยกันขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เป็นต้นแบบในการผลิตปลาตะเพียน ซึ่งจังหวัดยโสธรมีความต้องการปลาตะเพียนมาผลิตเป็นปลาส้มปีละประมาณ 400 ตัน คิดว่าจะเป็นต้นแบบการผลิตปลาตะเพียนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนของปลาตะเพียนในจังหวัดยโสธร และหลังจากสิ้นสุดโครงการดังกล่าวนี้ทางสำนักงานประมงจังหวัดคาดหวังว่าชุมชนจะเข้มแข็งขึ้น สามารถดำเนินโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำต่อด้วยตัวเองได้หลังจากโครงการสิ้นสุดลง (ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 – เดือนเมษายน 2561) ชุมชนจะต้องสามารถใช้ชุดเพาะพันธุ์ปลาเคลื่อนที่ดำเนินการต่อไปได้ภายใต้คำแนะนำของกรมประมง
นางทิพย์สุดา ต่างประโคน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 5 (ยโสธร)เป็นหน่วยงานวิชาการที่ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำและศึกษาวิจัยทางการประมงนำความรู้วิชาการมาสนับสนุนงานนโยบายกระทรวงฯ และสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่จังหวัดยโสธร สำหรับธนาคารสัตว์น้ำชุมชนบ้านดอนผึ้ง ภายใต้โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมง ทางศูนย์วิจัยฯ ได้ร่วมบูรณาการข้อมูลทางวิชาการในการคัดเลือกและวิเคราะห์แหล่งน้ำ แนะนำวิธีการเลี้ยง การอนุบาลลูกพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสม โดยเบื้องต้นสนับสนุนพันธุ์ปลาและกุ้งก้ามกรามมาปล่อยเพิ่มให้แหล่งน้ำชุมชนแห่งนี้ นอกจากนี้ยังได้ทำการสุ่มชั่งวัดขนาดสัตว์น้ำที่มีอยู่ก่อนเข้าร่วมโครงการ และติดตามอัตราการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำหลังปล่อยทุก 2 เดือน เพื่อประโยชน์และความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำของชุมชนและโครงการอีกด้วย
นายฆนากร สมพอง ผู้ใหญ่บ้านดอนผึ้ง กล่าวในส่วนของผู้นำชุมชนว่า หลังจากที่กรมประมงเข้ามาส่งเสริม และคัดเลือกให้ชุมเราเป็นพื้นที่ดำเนินการทางชุมชนดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะโครงการดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและชุมชนโดยรอบ เนื่องจากสมาชิกทุกคนจะได้ร่วมกันน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาสร้างอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเบื้องต้นโครงการนี้กรมประมงและจังหวัดยโสธรได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ และได้เตรียมพันธุ์ปลาและกุ้งก้ามกรามจำนวนมาปล่อยให้ ร่วมถึงการให้ความรู้เรื่องในการเพาะพันธุ์ปลาโดยใช้ชุดเพาะพันธุ์เคลื่อนที่(Mobile hatchery) ทางชุมชนได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งธนาคารสัตว์น้ำชุมชนบ้านดอนผึ้ง และมีการระดมหุ้นเพื่อเป็นทุนในการเนินการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในพื้นที่ อาทิ การปรับปรุงบ่ออนุบาลสัตว์น้ำ การทำแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์ การทำกองปุ๋ยหมักเพื่อให้เป็นอาหารปลา ฯ ลฯ เป็นต้น
โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศรวมทั้งเป็นการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนเป็นการปลูกสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนให้ได้รู้จักอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ของตนต่อไป