กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--มหาวิทยาลัยนเรศวร
เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ ณ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมโครงการ จังหวัดสุโขทัยพบสื่อมวลชน โดยมีนายวรนิติ์ มุตตาหารัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเป็นประธานการประชุม เพื่อนำเสนอสินค้าต้นแบบ จากผลงานการวิจัย "การพัฒนาสินค้าพื้นเมืองเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย" โดยร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุโขทัย นำสินค้าพื้นเมืองที่โดดเด่นมาสร้างสรรค์พัฒนา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุโขทัย อีกทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดสุโขทัยให้ไปสู่ระดับประเทศและระดับชาติต่อไป
ในที่ประชุมผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล เปิดเผยว่า "งานวิจัยครั้งนี้มีการพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากทรัพยากรในท้องถิ่น ได้แก่ สินค้าประเภทอาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ศิลปะประดิษฐ์ และสินค้าที่ระลึกในแต่ละอำเภอของจังหวัดสุโขทัย ออกมาเป็นสินค้าต้นแบบ จำนวน ๖ ชิ้น"
- แบรนด์สินค้า โดยนำแนวความคิดเดิมที่เป็นความทรงจำของคนทั่วไป ได้แก่ ความหมายของสุโขทัย แปลว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข นำเสนอในรูปของพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ พร้อมการใส่รูปเจดีย์สำคัญ ผสมผสานกับลักษณะเชิงนิเวศที่มีค้างคาวอาศัยอยู่บริเวณเขาหลวงและถ้ำเจ้าราม ตลอดจนผู้คนรู้จักค้างคาวสุโขทัยในนามมาสคอตของสโมสรสุโขทัย FC ชื่อว่าค้างคาวไฟ จึงนำรูปลักษณะของค้างคาวมาเป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของอาณาจักรสุโขทัย
- ชามสังคโลกและกระบอกน้ำสังคโลกสุญญากาศ โดยการปรับรูปทรงแก้วกาแฟในลักษณะการผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นกระบอกน้ำสังคโลกสุญญากาศ สะดวกต่อการพกพา ทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นถ้วยใส่อาหารเข้าไมโครเวฟได้ ชุดชามสังคโลกในแบบพกพาหรือชุดอาหารปิกนิก
- ชุดเครื่องเงินเครื่องทองสุโขทัย ประกอบด้วยสร้อยคอ ตุ้มหู กำไล และแหวน อันเกิดจากแนวคิดว่า นักท่องเที่ยวมีความหวังในประเพณีลอยกระทง ความสนใจในเรื่องราว ตำนาน ความเชื่อของนางนพมาศ จึงนำมาสู่รากฐานศิลปะที่มาจากลายดอกบัว ที่สืบเนื่องในลายจิตรกรรมและลายปูนปั้น จนค้นพบลายดอกบัวที่อยู่บนเครือเถาจากวัดศรีชุมและวัดนางพญาที่จังหวัดสุโขทัยนำมาสร้างเป็นชุดเครื่องเงินเครื่องทอง สะท้อนการยึดในหลักศาสนา การเข้าใจวัฏจักรและการเวียนว่ายตายเกิด สุดท้ายทางแห่งการหลุดพ้นคือ โลกุตระธรรมอันสูงสุดดังดอกบัวที่บานสะพรั่งเป็น ๘ กลีบ สะท้อนถึง มรรค ๘ ทางสู่การหลุดออกจากวัฏสงสาร กลายมาเป็นสุโขทัยที่สะท้อนคุณค่าและความทรงจำเกี่ยวกับที่มาของการทำกระทงดอกบังเพื่อเป็นพุทธบูชาของนางนพมาศ
- ผ้าทอพื้นเมืองนาโน การพัฒนาเส้นใยผ้าพื้นเมืองสุโขทัยให้สามารถกันน้ำ กันแมลง และแสงยูวีตลอดจนเพิ่มมูลค่าผ้าทอ โดยการเคลือบสารนาโนบนผลิตภัณฑ์พื้นเมืองเดิม เช่น ย่าม กระเป๋าถือและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกทั้งพัฒนารูปแบบการใช้งานให้ตอบสนองกลุ่มคนทำงาน และวัยรุ่น ด้วยการผสมผสานผ้าทอแบบไทยในเทรนด์แฟชั่นทศวรรษหน้า
- บรรจุภัณฑ์ยาดมยานวดสมุนไพร ด้วยแนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของสุโขทัย และบ่งบอกคุณลักษณะของการเป็นยาสมุนไพรที่มาจากปราชญ์ท้องถิ่น จึงนำรูปลักษณ์ของขวดยาไทย ยาจีนแบบโบราณที่ผลิตด้วยเครื่องสังคโลก และมีลวดลายปลาคู่ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นหยิน หยาง มาสร้างเป็นบรรจุภัณฑ์สมุนไพร เช่น น้ำมันเหลือง เป็นต้น
- บรรจุภัณฑ์ขนมโบราณสุโขทัย การพัฒนากล่องบรรจุขนมผิง ทองม้วน กล้วยอบเนย และหมี่กรอบ เป็นรูปตุ๊กตาชายหญิงแต่งกายในสมัยสุโขทัยพร้อมเกร็ดความรู้ ให้ความสวยงาม บอกเล่าวัฒนธรรมในอดีต ทั้งยังสร้างความร่วมสมัย ดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่สามารถนำชุดตุ๊กตากระดาษไปประดิษฐ์ต่อยอด เช่น นำไปประกอบฉากพร้อมเรื่องเล่ากลายเป็น pop-up ประวัติศาสตร์สังคมสมัยสุโขทัย, การ์ดที่ระลึก, นำไปติดสมุดหรือของที่ระลึกอื่น ๆ
"ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธ-ตระกูล กล่าวทิ้งท้ายว่า "โครงการการพัฒนาสินค้าพื้นเมืองจังหวัดสุโขทัยนับเป็นต้นแบบของการพัฒนาสินค้าพื้นเมืองเพื่อเพิ่มมูลค่าและต่อยอดสินค้าพื้นเมืองสู่สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว ตลอดจนความโดดเด่นและแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดต่อไป"