กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ความตึงเครียดทางการเมืองหลังชาวเคิร์ดในอิรัก 3.3 ล้านคน ลงประชามติโดย 93% เห็นด้วยกับการแยกตัว ส่งผลให้รัฐบาลอิรัก ตุรกี อิหร่านและซีเรีย ต่อต้าน เพราะอาจจุดกระแสให้ชาวเคิร์ดในพื้นที่ของตนแยกตัว ประธานาธิบดีตุรกี นาย Tayyip Erdogan ขู่จะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk–Ceyhan (ปริมาณการสูบถ่าย 1.6ล้านบาร์เรลต่อวัน) จาก Kurdistan Regional Government (KRG) สู่ท่าส่งออก Ceyhan ในตุรกี
- วันที่ 22 ก.ย. 60 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ระหว่างกลุ่ม OPEC และประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่ม ว่าหากตลาดน้ำมันไม่คืนสู่ภาวะสมดุลภายในไตรมาส 1/61 กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะขยายเวลาลดปริมาณการผลิตออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 471.0 ล้านบาร์เรล
- PEMEX บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโกรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ เดือน ส.ค. 60 ลดลง 10% จากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 1.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- โรงกลั่นหลายแห่งบริเวณ U.S. Gulf Coast กลับมาดำเนินการ หลังผลกระทบจากพายุ Harvey คลี่คลาย ส่งผลให้อัตราการกลั่นเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.4 % มาอยู่ที่ 88.6 %
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 55,623 สัญญา มาอยู่ที่ 285,555 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6 แท่น มาอยู่ที่ 750 แท่น เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 สัปดาห์
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติของนอร์เวย์ Statoil กำลังดำเนินการจ้างเรือขนส่งขนาดใหญ่ (Ultra-Large Crude Carrier: ULCC) ซึ่งบรรทุกน้ำมันดิบได้ประมาณ 3 ล้านบาร์เรล เพื่อแบ่งขายให้ลูกค้าในเอเชีย โดยจอดบริเวณนอกฝั่งมาเลเซีย ร่วมกับเรืออื่นๆ ที่ใช้เป็นคลังน้ำมันลอยลำ (Floating Storage) อีกประมาณ 30 ลำ
- Nigerian Petroleum Development Co. (NPDC) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเครือของบริษัทน้ำมันแห่งชาติไนจีเรีย หรือ National Petroleum Corporation : NNPC) มีแผนผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 180,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2561 อนึ่งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียเดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ 1.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิรักกับ Kurdistan Regional Government (KRG) หลัง KRG ลงประชามติแยกตัวออกจากอิรัก เพื่อนำผลมาเจรจาต่อรองกับรัฐบาลกลางอิรัก ล่าสุด นายกรัฐมนตรีอิรัก นาย Haider al-Abadi ยืนกรานว่าจะไม่มีการเจรจาใดๆทั้งสิ้น ขณะที่ตุรกียืนยันว่าการส่งออกน้ำมันดิบจาก KRG ต้องผ่านรัฐบาลอิรักเท่านั้น ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันดิบทางตอนเหนือของอิรักจำเป็นต้องขนส่งผ่านท่อ Kirkuk-Ceyhan (ขีดความสามารถในการขนส่ง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ซึ่ง ปัจจุบันเคอร์ดิสถานใช้ส่งออกประมาณ 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อเชื่อมไปยังทางออกสู่ทะเลที่ตุรกี ขณะเดียวกัน อิรักห้ามเที่ยวบินเข้าออกเคอร์ดิสถานแล้ว ด้านสำนักข่าว Tasnim รายงานว่าอิหร่านห้ามส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปให้เคอร์ดิสถานเพื่อตอบโต้ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 อิหร่านส่งออกน้ำมันดีเซลให้เคอร์ดิสถานจำนวน 34 ล้านลิตร นอกจากนั้นเหตุการณ์ไม่สงบจากการลงประชามติให้แคว้นกาตาลันแยกตัวจากสเปน โดยมีรายงานผู้บาดเจ็บจากเหตุปะทะกว่า 800 ราย และผลการลงคะแนนเห็นด้วยกับการแยกตัวคิดเป็น 90% โดยมีประชาชนชาวกาตาลันออกเสียง 2.26 ล้านราย (คิดเป็น 42%) แต่รัฐบาลสเปนถือว่าผิดต่อรัฐธรรมนูญ สำหรับเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตาในเดือน ต.ค. 60 คือ การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนช่วงกลางเดือน ซึ่งจัดประชุมทุก 5 ปี เพื่อกำหนดทิศทางของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ต.ค. 60 ซึ่งหากนาย Shinzo Abe ชนะการเลือกตั้งจะเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดตั้งแต่ หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.5-58.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49.5-53.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 53.5-57.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นโดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติเกาหลีใต้ (Korea National Oil Corp. - KNOC) รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินในประเทศเดือน ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8 % อยู่ที่ 7.12 ล้านบาร์เรล ประกอบกับกระทรวงพลังงานฟิลิปปินส์รายงานปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน ช่วง ม.ค.-มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.3 % มาอยู่ที่ 9.16 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 640,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.90 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 450,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.72 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts คาดอินโดนีเซีย (ผู้นำเข้าน้ำมันเบนซินรายใหญ่ของภูมิภาค) นำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน ต.ค. 60 ลดลงจากปีก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.0 ล้านบาร์เรล และ หน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซิน เดือน ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35.2 % อยู่ที่ 7.74 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ บริษัท Sinopec ของจีน รายงานโรงกลั่น Shijiazhuang Petrochemical (233,000 บาร์เรลต่อวัน) จะกลับมาดำเนินการภายในเดือนนี้ หลังจากปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 60 อีกทั้งมีข่าวนาย Jerry Brown ผู้ว่าการรัฐ California ของสหรัฐฯ กล่าวว่ามลรัฐ California อยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิกการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2583 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 80 % สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.5-72.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
Platts รายงานการซื้อขายน้ำมันดีเซลในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น หลัง Arbitrage จากเอเชียและตะวันออกกลางไปตะวันตกเปิด ล่าสุดเรือ The Coshonour Lake ขนาด Very Large Crude Carrier: VLCC อยู่ระหว่างการขนส่งน้ำมันดีเซล 0.001%S ปริมาณ 1.78 ล้านบาร์เรล จากโรงกลั่น Tianjin ในจีนไปยุโรป (ตามมาตรฐานคุณภาพช่วงฤดูหนาวของเยอรมนี) ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 680,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.49 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม น้ำมันดีเซล 0.05%S ถูกกดดันจากอุปสงค์อินเดียที่ลดลงในช่วงฤดูฝน และ KNOC ของเกาหลีใต้รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลในประเทศเดือน ส.ค. 60 ลดลงจากปีก่อน 8.2 % อยู่ที่ 13.8 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 740,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.61 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.5-71.0 เหรียญสหรัฐฯ บาร์เรล