กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--เจพี วัน คอนซัลแทนท์
ผู้สมัครงานหลายคน คงยังสับสนอยู่ว่าในยุค AEC ประชาคมเศรฐกิจอาเชียน หรือยุคไทยแลนด์ 4.0 คนยังคงเลือกงาน หรืองานยังคงเลือกคนอยู่ อันนี้แล้วแต่มุมมองของปัจเจกชน แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ประกอบการจะเรียกผู้สมัครเข้ารับการสัมภาษณ์ สามคน ต่องานที่เปิดรับหนึ่งตำแหน่ง และก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการได้รับการเรียกเข้าสัมภาษณ์นั้น องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการสมัครงานคือ ประวัติการทำงาน เรซูเม่ หรือ CV เพื่อให้ประวัติการทำงานของเราโดดเด่น แมนพาวเวอร์กรุ๊ป มีข้อแนะนำที่ไม่ควรข้ามในการทำประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ ดังต่อไปนี้
· ประวัติการทำงาน หรือ เรซูเม่ต้องเป็นปัจจุบันที่สุด สิ่งที่สำคัญในการเขียนเรซูเม่ก็คือต้องไม่ยาวและอ่านง่าย ควรจะเขียนในรูปแบบลิสต์เป็นข้อ ๆ ลงมาตามหัวข้อ (Bullet Point)แทนการเขียนอธิบายยาว ๆ เป็นย่อหน้า และไม่ควรยาวเกิน 1-2 หน้ากระดาษ เพราะในแต่ละวันจะมีเรซูเม่ส่งเข้ามาที่บริษัทเป็นจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายบุคคลที่มีหน้าที่ในการคัดกรองเรซูเม่ไม่สามารถอ่านเรซูเม่ของแต่ละคนได้อย่างละเอียด แต่จะใช้วิธีอ่านผ่าน ๆ และมองหาคีย์เวิร์ดที่สำคัญเท่านั้น ซึ่งการเขียนลิสต์เป็นข้อ ๆ จะช่วยให้อ่านได้ง่ายมากขึ้น
· หาจุดขาย หรือเน้นประเด็นให้ตรงความต้องการ เมื่อเขียนประวัติการทำงานเสร็จแล้ว ควรอ่านทบทวน เช็คความถูกต้อง ว่าตำแหน่งงานที่สมัครนี้ ผู้ประกอบการเน้นทักษะด้านไหนเป็นพิเศษ และถ้าผู้สมัครมีประสบการณ์นั้นตรง ก็ควรเน้นสีเข้มให้ชัดเจน เพราะผู้คัดเลือกประวัติจะเห็นได้ง่าย และชัดเจน ไม่มองข้ามประวัติผู้สมัครไป และนำไปกองไว้เฉยๆ ไม่ควรทำประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ ด้วยสีสัน เทคนิคหลากหลาย (ยกเว้นกรณีที่สถานประกอบการต้องการ) ควรอยู่ในรูปแบบเรียบง่าย เข้าใจง่ายและชัดเจน เป็นขั้นตอน
· ต้องเป็นความจริง เคล็ดลับนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะในการเขียนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในตอบสอบสัมภาษณ์ และการประเมินตนเองได้อีกด้วย โดยคุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับจุดเด่น จุดด้อย ความสนใจ และสิ่งที่ต้องการของตัวคุณเอง คุณต้องมีความชัดเจนว่า คุณเคยทำอะไรมาบ้าง การเลือกบุคคลอ้างอิงที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเราได้ เพราะจะเป็นการยืนยันว่าเราเคยผ่านการทำงานมา รวมถึงมีความสามารถในการทำงานจริง ๆ
· การแปลประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ สถานประกอบการบางแห่งที่มีผู้บริหารเป็นชาวต่างชาติ ต้องนำส่งประวัติที่เป็นภาษาอังกฤษ อันนี้ผู้สมัครงานต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า มีทักษะภาษาอังกฤษมากน้อยเพียงใด ในการเขียนเรซูเม่ภาษาอังกฤษ แทบจะไม่มีความแตกต่างจากเรซูเม่ภาษาไทยเลย หากแต่เราต้องมีความรอบคอบในการเลือกใช้คำ เพราะคำบางคำอาจจะสื่อความหมายที่ผิดได้ ทางที่ดีควรตรวจทานเรื่องไวยากรณ์ภาษาอังกฤษให้ดีอีกรอบหนึ่งก่อนจะมีการส่งเรซูเม่สมัครงาน หากเกิดความผิดพลาดแล้ว เราจะแก้ไขได้ยาก และทำให้เราพลาดโอกาสในการสัมภาษณ์งานได้ เมื่อไม่มั่นใจให้ลองหาผู้ที่มีประสบการณ์มาช่วยตรวจทานด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้มีมากขึ้น
· การส่งประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ ช่องทางการส่งประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ สมัครงานกับสถานประกอบการนั้นมีหลายช่องทาง ส่วนใหญ่ก็จะส่งทางไปรษณีย์ หรือส่งผ่านอีเมล์ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ ถูกทอดทิ้ง วางเฉย กองสุมไว้ หรือถูกลบทิ้ง การจ่าหน้าซอง หรือการเขียนหัวเรื่องให้ชัดเจนก็สำคัญ ถ้าส่งทางไปรษณีย์ ต้องระบุ หรือวงเล็บมุมซองให้ชัดเจนว่า "สมัครงานตำแหน่ง....." หรือถ้าส่งทางอีเมล์ ก็ต้องระบุหัวเรื่อง-Subject-ว่า "สมัครงานตำแหน่ง....." ผู้คัดเลือกประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่จะได้สนใจเปิดอ่าน หรือเข้าไปอ่าน ไม่เพิกเฉยต่อประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่
การทำประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด และการลงมือทำครั้งเดียวสามารถเก็บไว้ใช้ได้ตลอดชีวิตของการทำงาน เพียงผู้สมัครให้ความใส่ใจ ใส่ความจริง ทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ตรวจเช็คความถูกต้องก่อนนำส่งทุกครั้ง เท่านี้ผู้สมัครงาน ก็จะได้ประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ของตนเอง ขั้นเทพ โดดเด่น ต้องตา ต้องใจ สถานประกอบการอย่างแน่นอน