กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ครบรอบ 15 ปี ในฐานะองค์กรกลางของภาครัฐในการบูรณาการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ มุ่งจัดการสาธารณภัยที่ครอบคลุมทุกมิติ ด้วยการพัฒนาเครือข่ายให้มีศักยภาพในการรองรับการจัดการภัยพิบัติอย่างรอบด้าน พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันสาธารณภัยภาคประชาชนภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อีกทั้งสร้างหุ้นส่วนในการขับเคลื่อนกลไกการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามกรอบสากล ควบคู่กับการยกระดับการจัดการสาธารณภัยระหว่างประเทศตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และพัฒนางานวิจัยด้านการจัดการสาธารณภัย รวมถึงเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่การวางระบบจัดการสาธารณภัย และเป็นเครื่องมือสำคัญการอำนวยการ สั่งการ และแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ตลอดจนสร้างองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการทำงาน และพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ปรับตัวเท่าทันต่อเทคโนโลยี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัย (Safety Thailand)"
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า วันที่ 3 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันครบรอบวันสถาปนากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางของภาครัฐในการบูรณาการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศได้ขับเคลื่อนการจัดการสาธารณภัย ภายใต้นโยบายสำคัญของรัฐบาล พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการจัดการสาธารณภัยของประเทศให้มีความเข้มแข็งและครอบคลุมทุกมิติ ผ่านกลไก "ประชารัฐ" และแนวทางการจัดการสาธารณภัย
อย่างยั่งยืน : ปภ. 4.0 ดังนี้ 1.สานพลังประชารัฐเสริมสร้างความเข้มแข็งจัดการสาธารณภัยในระดับพื้นที่ โดยพัฒนาเครือข่ายให้มีศักยภาพในการจัดการสาธารณภัย ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความพร้อมในการรับมือและจัดการสาธารณภัย ควบคู่กับการผลักดันให้มีเครือข่ายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ พัฒนางานอาสาสมัครจิตอาสาภาคประชาชนให้เป็นระบบและพร้อมสนับสนุนการจัดการสาธารณภัยของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสืบสานพระราชปณิธานพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม สร้างภูมิคุ้มกันสาธารณภัยภาคประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณภัย มุ่งสร้างขีดความสามารถในการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัย ตระหนักถึงผลกระทบ และเรียนรู้แนวทางการจัดการสาธารณภัยในเบื้องต้น ผ่านกระบวนการฝึกอบรม การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พร้อมส่งเสริมการนำหลักการ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาเป็นกลไกในการสร้างความเข้มแข็งการจัดการสาธารณภัยภาคประชาชน ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 2.สร้างหุ้นส่วนความร่วมมือในการจัดการสาธารณภัยสู่มาตรฐานสากล มุ่งขับเคลื่อนการจัดการสาธารณภัยของประเทศตามกรอบสากล ทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดการสาธารณภัยตามมาตรฐานสากล และมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลก ควบคู่กับการยกระดับการจัดการสาธารณภัยระหว่างประเทศตามมาตรฐานสากล โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย พร้อมพัฒนาระบบการประสานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีเอกภาพ รวมถึงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการสาธารณภัยระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกลไกการจัดการสาธารณภัยภายใต้ระบบและกรอบแนวทางเดียวกัน มุ่งสู่การเป็นประเทศที่รู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่วอย่างยั่งยืนและเป็นหนึ่งเดียว 3.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสาธารณภัยขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยส่งเสริมการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และพัฒนางานวิจัยด้านการจัดการสาธารณภัย มาใช้ในการจัดการสาธารณภัยเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้ความหลากหลายของประเภทภัย และความแตกต่างเชิงภูมิศาสตร์ พร้อมสนับสนุนงานวิจัยที่สามารถต่อยอดและขยายผลในการสร้างศักยภาพการจัดการสาธารณภัยของประเทศ ควบคู่กับการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่การวางระบบการจัดการสาธารณภัย โดยจัดทำฐานข้อมูลสาธารณภัย และพัฒนาคลังข้อมูลสาธารณภัยแห่งชาติให้มีเอกภาพการวางระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่มีความแม่นยำและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างรวดเร็ว พร้อมนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาใช้ในการตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ประสบภัย อีกทั้งใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการอำนวยการ สั่งการ และแก้ไขปัญหาสาธารณภัย เตรียมพร้อมองค์กรรองรับการจัดการสาธารณภัย : ปภ 4.0 มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการทำงาน การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ปรับตัวเท่าทันต่อเทคโนโลยี และพร้อมจัดการสาธารณภัยทุกรูปแบบ การวางแผนรับมือสาธารณภัยเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้องค์กรเติบโตภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลกยุคดิจิทัล ทั้งนี้ ปภ. มุ่งจัดการสาธารณภัยที่ครอบคลุมทุกมิติ และเชื่อมโยงอย่างรอบด้าน ตามแนวทาง ปภ. 4.0 โดยประสานพลัง "ประชารัฐ" เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการสาธารณภัยเชิงรุกที่เข้มแข็งและเดินหน้าไปด้วยกัน พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นรากฐานในการพัฒนางานด้านการจัดการสาธารณภัยของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสร้างประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัย (Safety Thailand)