กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดใช้งานเน็ตประชารัฐทั่วประเทศ โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี ภายใต้แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.2560-2564) หรือ ดิจิทัลไทยแลนด์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ครอบคลุมใน 6 มิติ ทั้งมิติด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านภาครัฐ ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านความเชื่อมั่น แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 (Digital Foundation) 1 ปี 6 เดือน เน้นการลงทุนและสร้างฐานราก และระยะที่ 2 (Digital Thailand Inclusion) 5 ปี โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามแนวทางประชารัฐ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการลงพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อเปิดการใช้งาน "เน็ตประชารัฐ" ภายใต้โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ว่า ประเทศไทยได้ก้าวสู่ประเทศดิจิทัลเต็มตัว โดยมีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าผ่านเน็ตประชารัฐ เป็นโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมถนนดิจิทัลไปสู่หมู่บ้านทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตามเป้าหมาย "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งเป็นโมเดลของเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value-Based Economy) และเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) ที่สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ด้วยแนวคิด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ประสานพลังขับเคลื่อนพร้อม ๆ กัน ผ่านกลไก "ประชารัฐ" เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นพลังประชารัฐที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ตั้งแต่การประกอบอาชีพ ตลอดจนการศึกษา ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ไปจนถึงเพิ่มช่องทางการขาย เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและ เร็วขึ้น เพิ่มความสะดวก ลดเวลา ลดข้อจำกัด และเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้ในที่สุด "ทำน้อยแต่ได้มาก" นำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและรอบด้าน เป็น "สังคมไทย 4.0" มีความเท่าเทียมในสังคม เป็น "คนไทย 4.0" ที่มีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เป็น "เกษตรกร 4.0" เกษตรกรสมัยใหม่ Smart Farmers ที่บริหารจัดการดี ต้นทุนการผลิตต่ำ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรจากการแปรรูป เป็น "SME 4.0" ที่มีความสามารถทางการค้าขาย เข้าถึงตลาดในประเทศ ตลาดอาเซียน และตลาดโลก รวมทั้งเกิด "จังหวัด 4.0" ที่มีการกระจายความเจริญทั่วประเทศ เศรษฐกิจขยายตัว ชุมชนเข้มแข็งนำคนกล้าคืนถิ่นฐานบ้านเกิดได้
ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวเสริมว่า สำหรับการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 24,700 หมู่บ้าน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศนั้น เมื่อขยายโครงข่ายแล้วเสร็จจะทำให้ประเทศไทยมีระบบเคเบิลใยแก้วนำแสง ความยาวรวมกว่า 131,320 กิโลเมตร โดยประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ถึงประประมาณ 370,000 ราย สำหรับการดำเนินการ ณ ปัจจุบัน บมจ.ทีโอที ได้ดำเนินการขยายการติดตั้งแล้วเสร็จจำนวน 16,375 หมู่บ้าน (ณ 26 กันยายน 2560) คิดเป็นร้อยละ 66.29 รวมถึงการจัดจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการหมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการ ที่ระดับความเร็วรับ/ส่งไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps ทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13,435 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 9,007 หมู่บ้าน ภาคเหนือ จำนวน 4,398 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 2,761หมู่บ้าน ภาคใต้ จำนวน 4,398 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 2,287 หมู่บ้าน ภาคกลาง จำนวน 2,072 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 1,348 หมู่บ้าน ภาคตะวันออก จำนวน 1,542 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 913 หมู่บ้าน กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 81 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 59 หมู่บ้าน
นอกจากการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐอย่างเต็มศักยภาพ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชั่นโครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce ด้วยระบบ POS (Point of Sale) ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน สร้างรายได้ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารสต๊อคสินค้า การจำหน่ายสินค้า การลงทะเบียนสมาชิก และการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขาย เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน ชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และร้านโชห่วย ในการบริหารจัดการค้าขายสินค้าที่แข็งแกร่งขึ้น มีศักยภาพในการผลิตสินค้ามากขึ้น โดยภายในปี 2560 จะมีการพัฒนาร้านค้าชุมชนต้นแบบเพื่อให้บริการ POS จำนวนไม่น้อยกว่า 200 หมู่บ้านทั่วประเทศ ระยะที่ 2 ปี 2561 ขยายการติดตั้งอุปกรณ์ POS จำนวน 10,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ และระยะที่ 3 -ระยะที่ 5 (2562-2564) ขยายการติดตั้งครบจำนวน 29,800 หมู่บ้านทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่จัดตั้งไปแล้วกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลในลักษณะพื้นที่ทำงานร่วม (Co-Working Space) และอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ให้ชุมชน โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ จากความร่วมมือของภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญผ่านกลไกของศูนย์ดิจิทัลชุมชน
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังจัดให้มีหลักสูตรอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ผู้นำชุมชน และตัวแทนชุมชน ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ โดยชุมชนจะได้เรียนรู้การใช้สื่อ Social Media และการปฏิบัติการจริงด้วยการสร้าง Facebook ของกลุ่ม เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างชุมชนและนอกชุมชนนำไปสู่การพัฒนาการใช้สื่อ Social Media ในการซื้อขายออนไลน์ การเรียนรู้ เพื่อสร้างชุมชนให้เข็มแข็ง โดยหลักสูตรที่อบรมจะจัดทำเป็นหลักสูตร e-Learning และ up load ขึ้นบนเว็บไซต์เน็ตประชารัฐ เพื่อให้ชุมชนสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ด้วยตนเองตลอดเวลา