กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
วันนี้ (วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2560) เวลา 10.30 น. ณ ห้องภาสกรวงศ์ กรมศุลกากร นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ประชุมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้แก่ผู้บริหารกรมศุลกากร หัวหน้าส่วนราชการระดับสำนัก กลุ่ม ด่านศุลกากรและผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับประกาศเปิดตัวคุณธรรมอัตลักษณ์ของกรมศุลกากร คือ รับผิดชอบ (Accountability) สุจริต (Integrity) จิตบริการ (Service mind)
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ปัจจุบันกรมศุลกากร ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กรในหลายมิติ อาทิ กฎหมาย (พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกาศในพระราชกิจจานุเษกษา เมื่อ 17 พฤษภาคม 2560 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560) ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร พิกัดอัตราศุลกากร ตลอดจนโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาระบบงานของกรมศุลกากร สำหรับการจัดเก็บรายในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรสามารถจัดเก็บรายได้จำนวน 104,785 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการที่ได้รับจำนวน 15,715 ล้านบาท แต่สูงกว่าคาดการณ์ที่กรมศุลกากรได้รับให้จัดเก็บในช่วงปลายปีงบประมาณ 2560 จำนวน 785 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 นี้กรมศุลกากรได้รับจัดสรรประมาณการณ์จัดเก็บรายได้ จำนวน 111,000 ล้านบาท ดังนั้น กรมศุลกากรจึงได้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ในหลายมิติ ได้แก่ 1) พัฒนารูปแบบการจัดเก็บภาษีสินค้า e-commerce (เข้มงวดในการจัดเก็บภาษีสินค้า e-commerce จัดทำฐานข้อมูลสินค้ากลุ่มเสี่ยง และเชื่อมโยงข้อมูลกับต่างประเทศเพื่อการตรวจสอบ) 2) พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบสินค้า ได้แก่ ด้านราคา (ทำฐานข้อมูลสินค้านำเข้า ฐานข้อมูลสถิติราคาเฉลี่ย และพัฒนาระบบตรวจสอบและมีการแจ้งเตือน) ด้านสิทธิประโยชน์ (จัดทำ KM การตรวจสอบการใช้สิทธิประโยชน์และพัฒนาฐานข้อมูลถิ่นกำเนิดในรูปแบบ Mobile Application) ด้านพิกัดอัตราศุลกากร (พัฒนาฐานข้อมูลพิกัดสินค้า คำวินิจฉัยพิกัดในรูปแบบ Mobile Application) ด้านป้องกันและปราบปรามสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา (พัฒนาฐานข้อมูล IPR ในรูปแบบ Mobile Application) 3) การเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ (เข้มงวดในการตรวจสอบการสำแดงราคา พิกัด ปริมาณ ค่าระวาง สิทธิประโยชน์ต่างๆ การตรวจสินค้าแบบทีม และการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อยสำหรับใบขนสินค้า Green Line) 4) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลการข่าวศุลกากร Customs Intelligence Center (CIC) จัดทำข้อมูลความเสี่ยงจากการประมวลผลข้อมูลจากระบบ Big Dataทำข้อมูลการข่าวเพื่อบริหารความเสี่ยง และบูรณาการการตรวจสอบข้อมูลราคา 3 กรมภาษี (กรมสรรพกร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) 5) เชื่อมโยงข้อมูลการจัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษี (การตรวจสอบค่าสิทธิ์ การตรวจสอบราคาขายปลีก และการตรวจสอบบริษัทที่มีความเสี่ยง) 6) การใช้ระบบเทคโนโลยีในการควบคุมทางศุลกากร (X-Ray CCTV e-Lock)
นอกจากนี้ กรมศุลกากร มีเจตจำนงแน่วแน่และนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารและดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม โปร่งใส พร้อมรับผิด และส่งเสริมให้มีการเสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร มีการดำเนินการเพื่อพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน รวมถึง การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของกรมศุลกากร อีกทั้งได้สร้างภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเพื่อเฝ้าระวังป้องกันมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในทางราชการ อันเป็นการสอดรับตามดำริของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นกระทรวงแห่งคุณธรรม โดยมีเป้าหมายให้กระทรวงการคลังเป็นกระทรวงที่ปลอดจากการทุจริต และได้ดำเนินการโครงการ "กระทรวงการคลัง : คุณธรรม โปร่งใส ไร้ทุจริต" เพื่อให้บุคลากรในสังกัดมีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และได้มอบหมายให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานนำร่อง "ศุลกากรคุณธรรม" ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นต้นแบบของการสร้างหน่วยงานที่มีความโปร่งใสและไร้ทุจริตในการปฏิบัติงาน ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้เริ่มดำเนินการโครงการ "ศุลกากรคุณธรรม" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรทุกคนในทุกระดับ เสริมสร้างทัศนคติให้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส รักษาวินัยและความถูกต้อง ยกระดับการยอมรับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและภาคประชาสังคม และเพื่อปฏิรูปกรมศุลกากรให้เป็นหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาล ตามแนวทางการสร้างองค์กรคุณธรรมของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนในทุกส่วนราชการได้รับทราบนโยบายและร่วมกันดำเนินการโครงการมาครบ 1 ปี แล้ว และจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในองค์กร จึงได้ร่วมกันกำหนดคุณธรรมอัตลักษณ์ของกรมศุลกากร คือ "รับผิดชอบ สุจริต จิตบริการ" กล่าวคือ 1) รับผิดชอบ (Accountability) คือการตรงต่อเวลาและไม่เบียดบังเวลาราชการ ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จเป็นไปตามมาตรฐาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ 2) สุจริต (Integrity) คือ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และ 3) จิตบริการ (Service mind) คือ การบริการรวดเร็วด้วยความเต็มใจไม่เลือกปฏิบัติ ใช้วาจาสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นมิตรต่อผู้รับบริการ เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างจริยปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ศุลกากรอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้จัดทำโครงการ "พันธมิตรศุลกากร (Customs Alliances)"ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางในการสื่อสารระหว่างภาคเอกชนกับกรมศุลกากร ในการให้คำแนะนำติดต่อประสานงาน แก้ไขปัญหาและสร้างความชัดเจน ลดข้อโต้แย้งที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆทั้งปัญหาเชิงนโยบายและปัญหาหน้างานปกติ อาทิ พิธีการศุลกากร พิกัดอัตราศุลกากร ราคา ถิ่นกำเนิด กฎหมายศุลกากร สิทธิประโยชน์ และปัญหาอื่นๆ โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่ศุลกากรจากส่วนกลาง (Account Officer Center : AOC) ทำหน้าที่ติดต่อประสานกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของแต่ละพื้นที่ (Account Officer Expert) เพื่อแก้ปัญหาและ ให้คำปรึกษาอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินพิธีการทางศุลกากร ตลอดจนได้นำ 12 มาตรการสำคัญมาเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงาน อันเป็นการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งกรมศุลกากรได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากภาคเอกชน ปัจจุบันมีภาคเอกชนร่วมลงทะเบียนเป็นสมาชิกโครงการพันธมิตรศุลกากรแล้วทั้งสิ้น 325 ราย สำหรับปีงบประมาณ 2561 นี้ กรมศุลกากรจะยังคงดำเนินการโครงการพันธมิตรอย่างต่อเนื่องและจะนำผลการประเมินมาปรับปรุง แก้ไข พัฒนาต่อไป และจะเปิดรับสมาชิกใหม่ในระยะที่ 2 เร็วๆ นี้ การดำเนินการทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น กรมศุลกากรให้ความสำคัญมุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ อำนวยความสะดวกทางการค้า ปกป้องสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังวิสัยทัศน์กรมศุลกากรที่ว่า "องค์กรที่มุ่งมั่นให้บริการศุลกากรเป็นเลิศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและเชื่อมโยงการค้าโลก" อันเป็นการสอดรับกับคุณธรรมอัตลักษณ์
กรมศุลกากร ที่ว่า "รับผิดชอบ สุจริต จิตบริการ" อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กรมศุลกากรต่อไป