กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--NBTC Rights
จับตาวาระ กสทช. ครั้งที่ 13/2560:
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 13/2560 วันพุธที่ 4 ตุลาคม 2560 มีวาระที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท ดับเบิลยูวาย มีเดีย จำกัด จำนวน 11 ช่องรายการ, ร่างประกาศเรื่องแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล, พิจารณาอุทธรณ์ผู้รับใบอนุญาต 9 ราย กรณีไม่จ่ายค่า USO ปี 2554 – 2555, แผนรองรับการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานของทีโอทีภายหลังทรูฯ สิ้นสุดสัญญา และเรื่องพิจารณาร่างประกาศการให้ทุนสนับสนุนโครงการของกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ประเภทที่ 1
วาระพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท ดับเบิลยูวาย มีเดีย จำกัด จำนวน 11 ช่องรายการ
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กสทช. พิจารณามีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ของ บจ. ดับเบิลยูวาย มีเดีย (ชื่อเดิมคือ บจ. จีเอ็มเอ็ม บี) จำนวน 11 ช่องรายการ ซึ่งใบอนุญาตยังไม่สิ้นสุดลง
เรื่องนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยบริษัทดับเบิลยูวายฯ ได้ยุติการให้บริการรายการ Z Pay TV บนกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMM Z เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งได้เสนอแผนเยียวยาชดเชยแก่สมาชิกผู้ใช้บริการที่ได้ชำระเงินเข้าระบบแล้ว โดยสมาชิกที่ประสงค์จะรับชมรายการต่อ จะได้ชดเชยเป็นกล่องรับสัญญาณดาวเทียมระบบ Ku-Band ของ บจ. ซีทีเอช เคเบิลทีวี พร้อมแพ็คเกจสูงสุดในรับชมรายการ แต่สมาชิกต้องรับภาระในการติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมเพิ่มเติมด้วยตนเอง ซึ่งบริษัทเห็นว่าการได้รับชมรายการตามแพ็คเกจที่ชดเชยให้นั้นคุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียม ส่วนกรณีสมาชิกที่ไม่ประสงค์จะรับกล่องสัญญาณ ก็สามารถรับเงินคืนในช่วงเวลาที่ไม่สามารถรับชมได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 บริษัทซีทีเอชฯ ได้ยุติการให้บริการแก่ลูกค้าที่รับชมผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมในระบบ Ku-Band ซึ่งเท่ากับว่ามาตรการชดเชยเยียวยาของบริษัทดับเบิลยูวายฯ ที่ให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียมของบริษัทซีทีเอชฯ เป็นมาตรการเยียวยาที่ไม่สามารถชดเชยให้ผู้บริโภคได้อีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นในเวลาต่อมา บริษัทดับเบิลยูวายฯ ยังได้แจ้งความประสงค์มายังสำนักงาน กสทช. ขอยกเลิกการให้บริการช่องรายการอีกจำนวน 30 ช่องรายการ โดยหนนี้เสนอมาตรการชดเชยเยียวยาด้วยการให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียม พร้อมรับชมรายการแพ็คเกจ Beyond CTHZ Package ซึ่งปรากฏว่าบริษัทซีทีเอชฯ ก็ได้มีการยกเลิกการให้บริการแพ็คเกจดังกล่าวและยุติการให้บริการโครงข่ายฯ แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ดังนั้นมาตรการใหม่ของบริษัทดับเบิลยูวายฯ จึงเป็นมาตรการที่ไม่สามารถดำเนินการได้จริงเช่นกัน
สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม (กสท.) ได้เคยมีมติในการประชุมครั้งที่ 26/2559 วันที่ 8 สิงหาคม 2559 ให้บริษัทดับเบิลยูวายฯ จัดทำแผนเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้เป็นธรรมและครอบคลุมผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบในกรณีของการยุติบริการช่องรายการจำนวน 11 รายการ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ใช้มาตรการทางปกครองกำหนดโทษปรับวันละ 20,000 บาท ส่วนกรณีของการขอยกเลิกการให้บริการช่องรายการจำนวน 30 ช่องรายการนั้น ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ประชุมยังไม่พิจารณาเรื่องการยกเลิกบริการ แต่มอบหมายให้สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ดำเนินกระบวนการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ยุติก่อน อย่างไรก็ดี เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทดับเบิลยูวายฯ ก็ยังคงเพิกเฉย มิได้ดำเนินการจัดทำแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติม รวมถึงไม่มีการชำระค่าปรับทางปกครองแต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ปัญหานี้นับเป็นเรื่องที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และมีการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งสำนักงาน กสทช. มีความเห็นว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้บริโภค จึงเตรียมเสนอ กสทช. พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการเฉพาะช่องรายการที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นสุดจำนวน 11 ช่องรายการ ซึ่งหากมองโดยผิวเผิน ข้อเสนอนี้นับเป็นการใช้มาตรการลงโทษขั้นรุนแรง คือการเพิกถอนใบอนุญาต แต่หากมองในอีกด้านหนึ่ง ก็ถือว่าสมประสงค์ผู้ประกอบกิจการที่ต้องการยกเลิกการให้บริการอยู่แล้ว ขณะที่ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยาชดเชยเพิ่มเติมอะไร ซึ่งเท่ากับจบปัญหาโดยที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้แก่ผู้บริโภคที่เป็นฝ่ายถูกเอาเปรียบ
วาระร่างประกาศเรื่องแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ก่อนเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้เป็นเรื่องการปรับปรุงที่ตั้งและคุณลักษณะทางเทคนิคของสถานีเสริมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการติดตั้งสถานี โดยกำหนดให้มีเขตบริการจำนวน 39 เขตบริการ มีจำนวนเสาสถานีทั้งสิ้น 168 สถานี ประกอบด้วยสถานีหลัก 39 สถานี และสถานีเสริม 129 สถานี ซึ่งจากการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองการแพร่กระจายคลื่น ประเมินว่ามีพื้นที่ครอบคลุมคิดเป็นร้อยละ 95.1 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ โดยผลของการปรับปรุงดังกล่าว คาดว่าจะช่วยลดภาระของผู้บริโภคโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งสายอากาศรับสัญญาณหลายตัวเพื่อรับสัญญาณจากแต่ละเสาส่งสัญญาณ ลดการลงทุนซ้ำซ้อนในการติดตั้งหรือใช้งานโครงสร้างพื้นฐานของผู้ให้บริการโครงข่ายแต่ละราย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าเช่าโครงข่ายลดลง และมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
วาระพิจารณาอุทธรณ์ผู้รับใบอนุญาต 9 ราย กรณีไม่จ่ายค่า USO ปี 2554 – 2555
ในวาระนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาการอุทธรณ์คำสั่งเลขาธิการ กสทช. กรณีที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจัดสรรเงินรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 – 30 พฤษภาคม 2555) ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ให้แก่กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ
เรื่องนี้สืบเนื่องจากในสมัยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้เคยบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตแบบที่ 2 ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองและแบบที่ 3 เป็นผู้ใบอนุญาตที่มีหน้าที่ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือบริการ USO โดยสามารถเลือกดำเนินการจัดให้มีบริการUSO ตามภารกิจและพื้นที่เป้าหมายที่ประกาศกำหนด (Play) หรือจัดสรรรายได้จากการประกอบกิจการในอัตรา 4เปอร์เซ็นต์ต่อปีให้แก่กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Pay) ทว่าต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ กสทช. จัดทำแผนการจัดให้มีบริการ USO พร้อมทั้งกำหนดค่าใช้จ่ายและเรียกเก็บจากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อนำไปใช้ดำเนินการสนับสนุนการจัดให้มีบริการ USO ตามแผน แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุค กทช. มาสู่ กสทช. ระหว่างเดือนมกราคม 2554 – 30 พฤษภาคม 2555 นั้น ไม่มีการจัดให้บริการ USO ไม่ว่าจะด้วยวิธีการ Play หรือ Pay ก็ตาม อีกทั้งยังเกิดข้อถกเถียงทางกฎหมายว่า ในช่วงเวลาระยะภายหลังจากที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้แล้ว แต่การประกาศกำหนดแผน USO และค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตเพื่อนำไปใช้ดำเนินการตามแผนยังไม่แล้วเสร็จ การเรียกเก็บค่า USO จากผู้รับใบอนุญาตในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยข้อถกเถียงดังกล่าวว่า การให้บริการ USO จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ประกอบกัน ดังนั้น กสทช. จึงสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดสรรเงินรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมได้ อีกทั้งผู้รับใบอนุญาตในตอนนั้นก็ทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่า มีหน้าที่ต้องจัดสรรรายได้จากการประกอบกิจการ 4 เปอร์เซ็นต์ให้แก่กองทุน ซึ่งผู้รับใบอนุญาตย่อมต้องคำนวณค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ในค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคแล้ว จึงไม่น่าที่จะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 32/2558 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ที่ประชุมก็ได้มีมติเห็นชอบให้ผู้รับใบอนุญาตแบบที่ 2 ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองและแบบที่ 3 มีภาระหน้าที่ต้องจัดสรรเงินรายได้ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 – 30 พฤษภาคม 2555 ให้แก่กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ และสำนักงาน กสทช. ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตทุกรายที่มีภาระต้องนำส่งเงิน USO โดยในเวลาต่อมาก็มีผู้รับใบอนุญาตบางส่วนทยอยนำส่งเงินค่า USO แล้ว ขณะที่ยังคงหลงเหลือผู้รับใบอนุญาต 9 รายที่อุทธรณ์คำสั่งมายังสำนักงาน กสทช. โดยเหตุผลหลักที่โต้แย้งคือ ในช่วงเวลาที่พิพาทกันนั้น กสทช. ไม่ได้กำหนดแผน USO ไว้ จึงไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
อนึ่ง ผู้รับใบอนุญาต 9 รายที่อุทธรณ์คำสั่งมายังสำนักงาน กสทช. ประกอบด้วย บจ. ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจนซ์, บจ. ทรู อินเทอร์เนชั่นแนล เกตเวย์, บจ. ทรู อินเทอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น, บมจ. ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น, บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค, บจ. ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค, บจ. เอไอเอ็น โกลบอลคอม, บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม
วาระพิจารณาแผนรองรับการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานของทีโอทีภายหลังทรูฯ สิ้นสุดสัญญา
วาระนี้เป็นเรื่องการพิจารณาแผนรองรับการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่เขตโทรศัพท์นครหลวงของ บมจ. ทีโอที ภายหลังจากที่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กำลังจะสิ้นสุดการให้บริการตามสัญญาร่วมการงานกับ บมจ. ทีโอที จำนวน 2.9 ล้านเลขหมาย โดยสัญญาจะครบกำหนดในวันที่ 29 ตุลาคม 2560 ซึ่ง บมจ. ทีโอที มีหน้าที่ต้องจัดทำแผนและมาตรการรองรับการประกอบกิจการเพื่อมิให้กระทบถึงผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ แผนรองรับการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันยังคงมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่เหลืออยู่ 920,441 เลขหมาย และจำนวนโทรศัพท์สาธารณะ 26,000 เลขหมาย ซึ่ง บมจ. ทีโอที ได้จัดเตรียมแผนในด้านต่างๆ ไว้แล้ว ได้แก่ แผนการตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า แผนเตรียมความพร้อมด้านเทคนิคและบุคลากรเพื่อการดำเนินภายหลังได้รับส่งมอบระบบ โดยในส่วนของผู้ใช้บริการไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเลขหมายหรือทำสัญญาใหม่ และหากประสบเหตุขัดข้องหรือมีข้อร้องเรียน สามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้าของ บมจ. ทีโอที ทั่วประเทศ หรือ TOT Call Center 1100
ขณะที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม หรืออดีตคณะกรรมการชุด กทค. ได้มีมติเห็นชอบแผนรองรับการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานของ บมจ. ทีโอที แล้ว โดยมีความเห็นย้ำว่า ผู้ใช้บริการจะต้องสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยอัตราค่าบริการจะต้องเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขายเป็นแบบใหม่ ก็จะต้องเป็นความยินยอมพร้อมใจกันทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งต้องดูแลในส่วนของคุณภาพการให้บริการด้วย
วาระพิจารณาประกาศการให้ทุนสนับสนุนโครงการของกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ประเภทที่ 1
วาระนี้เป็นเรื่องที่ค้างการพิจารณามาจากการประชุม กสทช. ครั้งที่ 12/2560 โดยเป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาประกาศการรับข้อเสนอโครงการ กิจกรรม หรือการดำเนินการประเภทที่ 1 (โครงการที่เกิดจากผู้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน) ประจำปี 2561 ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ จำนวนไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยร่างประกาศดังกล่าวระบุว่า โครงการที่จะขอรับการสนับสนุนต้องเป็นโครงการที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 2 ปี และสอดคล้องกับกรอบทิศทางการสนับสนุน ซึ่งแบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม 2) ด้านการส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน 3) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนา ความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ เทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น การวิจัยและพัฒนาเชิงนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคมในการให้บริการทางการเงิน ด้านอุตสาหกรรม ด้านการเกษตร ด้านการพัฒนาสังคมเมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะ ด้านการแพทย์ เป็นต้น 4) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร 5) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการขององค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ 6) ด้านการสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ หากที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ ก็จะมีการนำไปประกาศเพื่อเปิดรับข้อเสนอโครงการและพิจารณาคัดเลือกเพื่อสนับสนุนทุนต่อไป