ระวัง... อันตรายจากแผงลอยขายยา

ข่าวทั่วไป Friday February 16, 2001 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--อย.
อย.เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อซื้อยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ ที่ขายไม่เป็นหลักแหล่ง โดยเฉพาะตามแผงลอย ที่มักมีข้อความโฆษณาอวดอ้างรักษาสารพัดโรค อาจเสียเงินเป็นจำนวนมาก แถมทำให้โรคกำเริบหนักขึ้นได้ ย้ำ เพื่อความปลอดภัย ขอให้ซื้อยาจากร้านขายยาโดยตรง และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ภญ.อังกาบ เวสโกสิทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการลักลอบวางขายยาสำเร็จรูปที่ผลิตจากสมุนไพร ยาแผนโบราณหรือยาแผนปัจจุบัน ตามแผงลอยต่างๆ ทั้งแผงลอยบนทางเท้า แผงในห้างสรรพสินค้าหรือรถเร่ขายยา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะการขายยาจะต้องขายในร้านขายยาเท่านั้น นอกจากนี้ที่ฉลากของยาดังกล่าวมักมีข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเก๊าท์ บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด เป็นต้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เกรงจะตกเป็นเหยื่อถูกหลอกจากพ่อค้าหัวใส จึงขอเตือนว่าอย่างหลงเชื่อซื้อยาที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงมาใช้รักษาโรค ที่สำคัญ ไม่ควรซื้อยาจากรถเร่หรือแผงลอยมาบริโภคเด็ดขาด เพราะผู้บริโภคไม่อาจทราบได้ว่ายาที่ขายนั้นมีคุณภาพมาตรฐานหรือยานั้นมีการลักลอบผสมตัวยาที่มีอันตรายต่อร่างการหรือไม่ เช่น มียาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นส่วนผสม ได้แก่ เพร็ดนิโซโลน หรือ เด็กซาเมธาโซน เพื่อหวังผลในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่รวดเร็ว แต่อาจจะมีผลข้างเคียงสูงอาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำ หน้าบวม กระเพาะทะลุ กระดูกผุ ความดันโลหิตสูง และเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น จึงควรซื้อยาจากร้านที่ได้รับอนุญาตให้ขายยาเท่านั้น และก่อนซื้อยาควรตรวจดูฉลากยาทุกครั้งต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาบนฉลาก ซึ่งแสดงว่า อย. ได้กลั่นกรองเรื่องคุณภาพและสรรพคุณของยาแล้ว จึงรับขึ้นทะเบียนตำรับยา อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดก่อนใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของ อย. ได้มีการสุ่มตรวจยาแผนโบราณที่จำหน่ายตามท้องตลาดอยู่เป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค หากพบก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที แต่ถึงกระนั้นก็อาจมีบางรายเล็ดลอดจากการตรวจสอบของ อย. ได้ ดังนั้น หากผู้บริโภคท่านใดพบเห็นหรือสงสัยว่ามีการผลิตหรือขายยาไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 590-7354-5 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่พบการกระทำความผิดนั้น ๆ รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ