กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์
บมจ. ยูเอซี โกลบอล หรือ UAC อวดโรงไฟฟ้าแม่แตง 2 ใช้พืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์ ข้าวโพด ผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งแรกในเขตภาคเหนือ ด้วยกำลังผลิต 1.5 เมกะวัตต์ ด้าน " ชัชพล ประสพโชค " กรรมการผู้จัดการ เดินหน้าตอกย้ำการเป็นผู้นำพลังงานโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ใช้หญ้าเนเปียร์ และข้าวโพด หนุนผลงานในระยะยาวเติบโตอย่างมั่นคง
นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC กล่าวว่า บริษัทฯเดินหน้าศึกษาและลงทุนโครงการพลังงานต่อเนื่อง และโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแม่แตง 2 เป็นหนึ่งในโครงการด้านธุรกิจพลังงานทดแทนที่บริษัทฯมุ่งเน้นพัฒนามาโดยตลอด
การดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพืชพลังงาน จะใช้หญ้าเนเปียร์ และข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตไฟฟ้า 1.5 เมกะวัตต์ และเริ่มผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แม่แตง ตั้งแต่ วันที่ 14 กันยายน 2558 เป็นต้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน แห่งแรกในเขตภาคเหนือ
"บริษัทมีการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งหญ้าเนเปียร์เป็น พืชพลังงาน ที่โตเร็ว ให้ผลผลิตไร่สูง ทนแล้งและให้ผลผลิตตลอดทั้งปี เก็บเกี่ยวง่าย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 6-7ปี โดยสามารถตัดหญ้าใช้ประโยชน์ครั้งแรกหลังการปลูกประมาณ 75 วัน จากนั้นตัดทุกๆ 45-60 วันและสามารถตัดได้ 4 ครั้งต่อปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งผลผลิตจะตกประมาณ 40-60 ตันต่อไร่ต่อปี ส่วนข้าวโพด เป็นพืชชีวมวลอีกชนิดหนึ่งที่มีความเหมาะสมที่จะนำมา ผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ลดการสูญเสียทรัพยากร อีกทั้งยังช่วยลดการเผาพื้นที่เพาะปลูก ที่เป็นสาเหตุของปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกด้วย" นายชัชพล กล่าว
กรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) กล่าวเพิ่มว่า บริษัทตั้งงบลงทุนเพื่อการขยายธุรกิจข้างต้นในช่วง 3 ปี (60-63) ไว้ที่ระดับ 4,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยใช้เงินลงทุนปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งรวมธุรกิจพลังงานด้วย และคาดว่าปี 2561 จะมีการรับรู้รายได้ลงทุนในโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้รวมปรับตัวดีกว่าปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,800 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานประมาณ 250 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทฯตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 50 เมกะวัตต์ ในปี 2020 จากซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) รวมๆอยู่ 12 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการศึกษาการลงทุนโครงการพลังงานใหม่ๆเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง