กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีพื้นที่เกิดสถานการณ์น้ำไหลหลากและน้ำท่วมขังในจังหวัดปราจีนบุรี เชียงราย และบุรีรัมย์ รวม 3 อำเภอ 3 ตำบล 12 หมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังบางพื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรี ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมืออันตรายจากฝนตกหนักและปริมาณฝนสะสมในระยะนี้
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำท่วมขังใน 3 จังหวัด 3 อำเภอ 3 ตำบล 12 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ปราจีนบุรี เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่หมู่ที่ 8 9 10 และ 11 ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบ 16 ครัวเรือน 58 คน และน้ำได้กัดเซาะคอพะพานข้ามคลองห้วยไคร้ได้รับความเสียหายประมาณ 30 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว เชียงราย เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย ประชาชนได้รับผลกระทบ 5 ครัวเรือน 10 คน และน้ำได้ไหลท่วมถนนช่วง กม.ที่ 115 – 116 ระยะทางประมาณ 200 เมตร ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว บุรีรัมย์ เกิดน้ำท่วมขังนาข้าวพื้นที่หมู่ที่ 1 – 7 ตำบลส้มป่อย อำเภอละหานทราย และเกิดน้ำท่วมขังถนนสายละหานทราย – โนนดินแดง ระหว่างหมู่ที่ 2 – 5 ตำบลส้มป่อย ระยะทางประมาณ 300 เมตร ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ทะเลอันดามันตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง บางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากฝนตกหนักและปริมาณฝนสะสมในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ทาง สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป