กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ผนึกกำลัง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS จัดการประชุมเชิงวิชาการว่าด้วย นัยทางจริยธรรม กฎหมาย และสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1 : การประยุกต์ใช้และความท้าทายของทรานส์โอมิกส์ในอนาคต เมื่อวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องกรุงเทพ 2 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
การประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นเชิงสังคม และจริยธรรมจากการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทรานส์โอมิกส์ พร้อมทั้งเป็นเวทีในการหารือถึงการเตรียมความพร้อมเชิงนโยบาย และกฎหมายเพื่อรองรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดในบริบทของประเทศไทย หวังสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นเชิงสังคมและจริยธรรมจากการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี สร้างเวทีการหารือเตรียมความพร้อมเชิงนโยบาย และกฎหมาย เพื่อรองรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในบริบทของประเทศไทย
ทรานส์โอมิกส์ หรือ เทคโนโลยีการถอดรหัสทางพันธุกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากโครงการจีโนมมนุษย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจกลไกการทำงานของร่างกายได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการใช้ประโยชน์จากโครงการจีโนมมนุษย์มาพัฒนาองค์ความรู้ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี ทรานส์โอมิกส์เพื่อรับมือกับโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม อาทิ โรคมะเร็ง และโรคเกี่ยวกับการผิดปกติทางพันธุกรรม ตลอดจนคาดการณ์การเกิดโรคและนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์แม่นยำระดับพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางพันธุกรรมถือเป็นข้อมูลจำเพาะส่วนบุคคล ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวมีนัยเชิงสังคม และจริยธรรม เช่น การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล การป้องกันการถูกละเมิดสิทธิทางข้อมูล และความปลอดภัยทางข้อมูล เป็นต้น ซึ่งควรได้รับการพิจารณาควบคู่ไปกับการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ทรานส์โอมิกส์
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ สมาชิกของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม (International Bioethics Committee, IBC) ยูเนสโก ให้เกียรติมากล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "สถานการณ์จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในประเทศไทย" นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "ความสำคัญด้านเทคโนโลยีชีวภาพกับการสร้างความเชื่อมั่นในสังคม" และ "ประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับการตัดแต่งทางพันธุกรรมมนุษย์" รวมถึงมีวงเสวนา ในหัวข้อ "นัยทางจริยธรรม กฎหมาย และสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : การประยุกต์ใช้ทรานส์โอมิกส์ในออสเตรเลีย จีน และประเทศไทย "การจัดการโครงการจีโนมมนุษย์ : กรณีศึกษาจาก Beijin Genome Institute" และหัวข้อ "การจัดการของประเด็นทางจริยธรรมด้านพันธุกรรม" จากวิทยากรชั้นนำทั้งไทย และต่างประเทศ