กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ แนะนำเกษตรกรเฝ้าระวังสุขภาพสัตว์ ในช่วงรอยต่อของฤดูกาลที่ภาวะอากาศแปรปรวน เน้นการจัดการในโรงเรือนและสร้างความอบอุ่นให้สัตว์ ช่วยป้องกันความเสี่ยงและลดอัตราสูญเสีย พร้อมให้คำปรึกษาด้านสุขภาพสัตว์ครบวงจร
น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดวันทั้งร้อนจัด ฝนตก สลับอากาศเย็น ทำให้สัตว์ปีกเลี้ยงแบบปล่อยหรือเลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิดไม่สามารถปรับตัวได้ จึงมีคำแนะนำในการดูแลสัตว์ปีก โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพสัตว์ เข้มงวดการทำวัคซีนป้องกันโรคตามที่สัตวแพทย์ การเตรียมโรงเรือนให้พร้อมอาจเพิ่มกันสาดหรือปิดผ้าใบเพื่อป้องกันฝนรอบโรงเรือน และต้องให้ความสำคัญกับก๊าซแอมโมเนียในโรงเรือน ที่จะกระทบต่อทางเดินหายใจของสัตว์ปีกโดยตรง เพิ่มหลอดไฟกกเพื่อสร้างความอบอุ่นให้สัตว์ปีกในช่วงที่อากาศเย็นลง โดยต้องควบคุมความเร็วลมให้เหมาะสม และพิจารณาเสริมวิตามินละลายน้ำให้สัตว์กิน 3-5 วันติดต่อกัน เพื่อลดความเครียดและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์ ช่วยลดการใช้ยาในการรักษาสัตว์ทำให้ผู้บริโภคได้รับอาหารปลอดภัย
"ช่วงนี้ของทุกปีเป็นช่วงการอพยพย้ายถิ่นของฝูงนกจากเขตหนาวในซีกโลกเหนือมายังเขตอบอุ่น เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ปีก แนะนำให้เกษตรกรใช้มาตรการการป้องกันตั้งแต่ต้นทางและการเลี้ยงด้วยวิธีทีถูกต้อง ควรฆ่าเชื้อโรคในน้ำบริโภคด้วยคลอรีนออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 ppm หรือน้ำ 1,000 ลิตรต่อคลอรีนออกฤทธิ์ 2-3 กรัม ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อกลุ่มกลูตาราลดีไฮด์เป็นประจำทุกวัน และพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่งที่เข้าออกฟาร์มอย่างเข้มงวด พร้อมจัดเตรียมรองเท้าบูทสำหรับสวมใส่ในโรงเรือนโดยเฉพาะ" น.สพ.นรินทร์ กล่าว
สำหรับการดูแลไก่เนื้อ หากมีแกลบเปียกน้ำต้องนำออกและเปลี่ยนแกลบใหม่ทันที เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดแก๊สแอมโมเนีย และต้องหมั่นกลับแกลบถี่ขึ้น 3 วันต่อครั้ง ส่วนการดูแลไก่ไข่จะต้องนำมูลไก่ออกจากโรงเรือนบ่อยครั้งขึ้นและต้องมีการระบายอากาศที่ดี จัดเตรียมน้ำและอาหารให้เพียงพอกับไก่ ด้านการดูแลสุกรต้องจัดเตรียมกล่องและไฟกกสำหรับลูกสุกร เพื่อป้องกันความหนาวเย็นขณะฝนตก และคอยสังเกตการกิน หากกินลดลงต้องปรับให้อาหารเท่าที่สัตว์กินได้ อาจแบ่งมื้ออาหารเป็นหลายมื้อหลีกเลี่ยงการให้อาหารในช่วงอากาศร้อนจัด หากอากาศเปลี่ยนแปลงมากควรผสมอาจเพิ่มวิตามินละลายน้ำเช่นเดียวกับในสัตว์ปีก
นอกจากนี้ หลายพื้นที่อาจประสบปัญหาพายุฝน จึงแนะนำให้ย้ายสัตว์ปีกเข้าเลี้ยงในโรงเรือนที่แข็งแรง ควรตัดแต่งกิ่งต้นไม้รอบฟาร์มให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้หักโค่นมาโดนหลังคาโรงเรือนหรือสายไฟ และต้องซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนให้ดีเพื่อป้องกันน้ำฝนที่จะเข้าสู่ภายใน ควรปรับปรุงและเสริมความแข็งแรงบริเวณชายคาเพื่อไม่ให้ลมพัดเสียหาย โดยเฉพาะโรงเรือนเก่าที่ไม่แข็งแรง ต้องหาไม้ค้ำยันเพื่อป้องกันการพังจากลมพัดแรง และต้องจัดเก็บอาหารสัตว์ให้มิดชิด หากมีปัญหาอาหารสัตว์โดยฝนจนเปียกมากไม่ควรนำมาเลี้ยงสัตว์
ส่วนการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแวป (EVAP) เกษตรกรต้องควบคุมการทำงานของพัดลมและเยื่อกระดาษหน้าโรงเรือนให้เหมาะสม และต้องเตรียมเครื่องสำรองไฟและน้ำมันเชื้อเพลิงให้พร้อมสำหรับกรณีไฟดับเพื่อให้พัดลมทำงานได้ตามปกติ
เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพสัตว์และขอคำแนะนำอย่างครบวงจร ได้ที่สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บกซีพีเอฟ ถนนสุวินทวงศ์ เขตหนองจอก กทม. โทร.029880670 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-18.00 น.