กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--กรมประมง
การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจเพียงว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ คือ การที่ไม่ใช้ยาและสารเคมีในการผลิตสัตว์น้ำ แต่อาจมองข้ามส่วนประกอบในอาหารสำเร็จรูปที่มีกากถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) เป็นวัตถุดิบ ซึ่ง GMOs เป็นสิ่งที่ห้ามใช้เด็ดขาดในวงการเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นหากเกษตรกรสนใจที่จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเกษตรอินทรีย์ จึงควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักการและมาตรฐานการให้ครบถ้วนเสียก่อน โดยข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานที่สำคัญของการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเกษตรอินทรีย์จะมีหลายข้อด้วยกัน อาทิ การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนสังเคราะห์ สิ่งดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) ระบบจัดการผลิตแบบองค์รวม (holistic) การจดบันทึกข้อมูลเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ ฯลฯ เป็นต้น
นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนการขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมุ่งใช้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ เป็นกลไกลสำคัญในการดำเนินงานพัฒนา
มีเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี พร้อมนำร่องให้จังหวัดยโสธรเป็นต้นแบบเมืองเกษตรอินทรีย์ หรือยโสธรโมเดล (Model) ด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ในปีงบประมาณ 2560 กรมประมง ได้ปรับแนวทางการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นในการพัฒนาฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ทั้งสัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบมาตรฐานอินทรีย์ได้ในอนาคต เป็นการผลักดันให้เกิดผลผลิตจากฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอินทรีย์
ทางเลือกอีกทางหนึ่งในการเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้อาหารแบบอินทรีย์คือ ไข่น้ำ หรือที่ภาคอีสานเรียกว่า ผำ จัดเป็นพืชน้ำที่มีลักษณะเป็นสีเขียวขนาดเล็กคล้ายไข่ปลา กระจายคลุมเหนือผิวน้ำเป็นแพขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง เช่น บึง และหนองน้ำธรรมชาติทั่วไป โดยปกติจะมีมากในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีน้ำไหลเวียน ผำเป็นพืชผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมนำไปประกอบอาหารกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แกง หรือ ผัด บางที่ก็ใส่เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความหอม มัน อร่อย มากยิ่งขึ้น จากข้อมูลของนางสาวชื่นดวงใจ คงบาล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เรื่องการเพาะเลี้ยงไข่น้ำ (ผำ) พบว่าในไข่น้ำมีโปรตีนสูง 40 % ของน้ำหนักแห้ง (ปริมาณโปรตีนจะไม่สม่ำเสมอขึ้นกับแหล่งที่อยู่ โดยจะแปรผันไปตามปัจจัยแวดล้อมที่เจริญเติบโต) จากรายงานผลวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของไข่น้ำ พบว่า ใน 100 กรัมน้ำหนักแห้ง ให้พลังงานต่อร่างกาย 8 กิโลแคลอรี เส้นใย 0.3 กรัม แคลเซียม59 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม และยังมีวิตามินเอ บี1 บี 2 และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด เช่น ลิวซีนวาลีน ฟีนิวอลานีน ฯลฯ เป็นต้น การใช้ไข่น้ำหรือผำมาให้เป็นอาหารปลากินพืชจึงเป็นทางเลือกในการเดินเข้าสู่แนวทางเบื้องต้นของการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเกษตรอินทรีย์
นายเดชา รอดระรัง ประมงจังหวัดยโสธร กล่าวว่า จังหวัดยโสธรถือเป็นจังหวัดแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีศักยภาพสูงทั้งเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และประมง โดยมุ่งเน้นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ในส่วนของสำนักงานประมงจังหวัดยโสธรได้มีการลงพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรในด้านการประมงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรหันมาทำอาชีพประมงให้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ผลักดันทั้งในระดับครัวเรือนจนถึงการประกอบธุรกิจ เรียกได้ว่าให้คำปรึกษาและคำแนะนำในทุกเรื่อง ตั้งแต่วิธีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำไปจนถึงการทำการตลาด จากการสำรวจปลาเศรษฐกิจของยโสธรที่นิยมนำมาแปรรูปมากที่สุดนั่นก็คือ ปลาตะเพียน โดยชาวบ้านที่นี่จะนิยมนำมาทำเป็นปลาส้ม แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการประสบปัญหาปลาตะเพียนในจังหวัดไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องหาซื้อมาจากภาคกลาง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากชาวบ้านที่นี่จะเลี้ยงปลาไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น อีกทั้งเงินลงทุนในการซื้อลูกพันธุ์ปลารวมถึงอาหารปลาก็มีจำกัดชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมองว่าเป็นความเสี่ยงในการลงทุน ดังนั้นในช่วงระยะเริ่มต้นการเข้าไปปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมการเลี้ยงให้เป็นธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากภาครัฐต้องนำความรู้ที่มีมาปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะพื้นที่ในแต่ละจังหวัดซึ่งแตกต่างกัน อีกทั้งจะต้องแสดงให้ชาวบ้านเห็นผลว่าการเข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมของเจ้าหน้าที่สามารถทำได้จริงและชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การใช้ไข่น้ำหรือผำมาให้เป็นอาหารปลากินพืชจึงเป็นอีกขั้นตอนในการเดินเข้าสู่แนวทางเบื้องต้นของการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเกษตรอินทรีย์
นายคำเส็ง องอาจ กล่าวเพิ่มเติมในฐานะเกษตรกรที่ทดลองเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเกษตรอินทรีย์ว่า เดิมทีที่บ้านทำนาข้าวปลูกข้าว แต่เมื่อปี 2559 ทางสำนักงานประมงจังหวัดยโสธร ได้เข้ามาส่งเสริมให้ขุดบ่อเลี้ยงปลาพร้อมหาตลาดในการจำหน่ายปลาให้แต่เนื่องจากตัวผมไม่ค่อยจะมีความรู้ด้านการประมงมากเท่าที่ควรจึงยังไม่กล้าที่จะลงทุนเลี้ยงปลาอย่างเต็มตัว ทางกรมประมงจึงได้เริ่มให้ทดลองเลี้ยงปลาตะเพียนในนาข้าวไปก่อน โดยในปี 2559 สามารถจับ ปลาขึ้นขายได้กำไรประมาณ 30,000 บาท เมื่อเริ่มมีผลกำไรให้เห็น ผมจึงได้ทำบ่อขนาด600 ตรม. เพื่อทดสอบการเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์และได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงบ่อเลี้ยงในวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 โดยได้เลือกปล่อยพันธุ์ปลากินพืชจำนวน 1,000 ตัว ได้แก่ ปลาตะเพียน 750 ตัว ปลานิล 200 ตัว และปลาไน50 ตัว ขนาดตั้งแต่ 4.5 – 5.0 ซม. และใช้ไข่น้ำหรือผำและหญ้าเนเปียร์บดให้เป็นอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็นครั้งละประมาณ 20 กก. (น้ำหนักเปียก)ปัจจุบันพบว่าปลาดังกล่าวโตเร็ว อีกทั้งขนาดของปลายังมีขนาดเท่าๆ กัน พร้อมกันนี้ยังได้มีการนำปลาตะเพียนจำนวน 30,000 ตัว และปลานิลจำนวน 7,500 ตัว ไปปล่อยเสริมลงในนาข้าวส่วนที่เหลืออีก 15 ไร่ ใช้เวลาการเลี้ยงประมาณ 6 เดือน และในปลายปีนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 1 ตัน คาดว่าจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1แสนบาทอย่างแน่นอน
การเลี้ยงสัตว์น้ำ "อาหาร" นับได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง ยิ่งหากจะต้องเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยแล้วยิ่งต้องเพิ่มความใส่ใจให้มากยิ่งขึ้น ไข่น้ำ จัดเป็นอาหารสัตว์น้ำที่เหมาะสำหรับปลากินพืชจำพวกปลาตะเพียน ปลานิล แต่หากท่านจะนำไปเลี้ยงกับปลากินเนื้อก็ขอให้นำไปเป็นส่วนผสมของอาหารใช้เลี้ยงแบบเป็นอาหารเสริมไม่ใช่อาหารหลัก เนื่องจากไข่น้ำจะเหมาะสมกับปลากินพืชมากกว่า