ผู้ว่าฯ กทม. มอบนโยบาย แนวทางจัดระเบียบผู้ค้า เร่งดำเนินการขีดสีตีเส้น จัดทำทะเบียนผู้ค้าในจุดผ่อนผัน

ข่าวทั่วไป Thursday August 17, 2000 08:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. มอบนโยบาย แนวทางจัดระเบียบผู้ค้า เร่งดำเนินการขีดสีตีเส้น จัดทำทะเบียนผู้ค้าในจุดผ่อนผันและกวดขันห้ามผู้ค้าขายของในที่ห้ามขาย
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.43) เวลา 10.30 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานนโยบายด้านเทศกิจว่า ตนได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานนโยบายด้านเทศกิจ เพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการแนวทางหลักๆ คือ จัดระเบียบ ทำทะเบียนผู้ค้า การอนุญาต การกำหนดมาตรการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งการกำหนดมาตรการไม่ให้มีการรีดไถผู้ค้า ซึ่งในการประชุมครั้งแรกนี้ตนได้ให้นโยบายกับคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานการจัดระเบียบผู้ค้า ทั้งนี้ ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท คือ ผู้ค้าในจุดผ่อนผัน ผู้ค้าในจุดทบทวน และผู้ค้าในจุดที่ไม่อนุญาตให้ทำการค้าคือ เช่น บริเวณป้ายรถเมล์ เชิงสะพานลอยคนเดินข้าม บริเวณทางเท้าแคบ ๆ เป็นต้น กทม.จะดำเนินการขีดสีตีเส้นพร้อมทั้งจัดทำทะเบียน บัตรประจำตัวผู้ค้าให้ผู้ค้าในจุดผ่อนผันและจุดทบทวนก่อน ส่วนผู้ค้าที่ค้าขายในที่ห้ามขายจะพิจารณาจัดหาที่ให้ซึ่งเป็นที่ที่สามารถค้าขายได้ และบริเวณที่ห้ามค้าขายจะมีการตีเส้นขาว-แดง ห้ามค้าขายเด็ดขาดผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินการจับปรับ ส่วนปัญหาผู้ค้าหาบเร่ซึ่งไม่ได้ตั้งวางขายเป็นที่และต้องการที่ตั้งวางขายด้วยนั้น ตนจะรับไว้พิจารณาหาแนวทางให้ต่อไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้รับแนวทางไปแล้ว จะได้เร่งดำเนินการ โดยมีสำนักงานเขตร่วมมือด้วย ซึ่งคณะกรรมการฯ กำหนดให้มีการประชุมกันทุกวันพุธ โดยจะนำมติที่ประชุมให้เขตดำเนินการทันที ในส่วนเรื่องค่าบริการรักษาความสะอาดบริเวณทางเท้าที่ใช้ตั้งวางแผงลอย ได้มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการ พ.ศ.2543 ออกมาแล้ว ซึ่งอย่างไรก็ดี กทม.จะยังไม่เก็บค่าบริการดังกล่าวตอนนี้เพราะจะต้องรอให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ค้า จัดทำบัตรประจำตัวผู้ค้า การขีดสีตีเส้น กำหนดการอนุญาตค้าขายที่แน่นอนเสร็จสิ้นก่อนจึงจะเก็บค่าบริการ นอกจากนี้วันพุธที่ 23 ส.ค.43 จะมีการเชิญแม่ค้าจากท่าพระจันทร์ซึ่งยินดีมาให้ปากคำเกี่ยวกับการถูกเรียกเก็บเงินโดยมิชอบ และให้เทศกิจผู้ถูกกล่าวหามาร่วมพูดคุย เพื่อให้คณะกรรมการและสื่อมวลชนรับฟังข้อเท็จจริงด้วย
ด้าน ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการฯ กล้าวด้วยว่า แนวทางเกี่ยวกับเรื่องหาบเร่-แผงลอย ต้องกำหนดให้ผู้ค้าซึ่งอยู่ในจุดผ่อนผันเดิม ได้มีทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยสามารถค้าขายได้ ณ จุดเดิม ส่วนผู้ค้าที่อยู่นอกเหนือจากจุดดังกล่าวยังไม่อนุญาตให้ค้าขาย แต่ก็จะมีการสำรวจจำนวนเพื่อดูว่าจะมีจุดใดที่สามารถขยายเพิ่มเติมพื้นที่ให้ได้ ถ้ามีก็จะพิจารณาจัดหาที่ขายให้ โดยเจ้าหน้าที่ทั้งเทศกิจ และสน.ท้องที่ จะดำเนินการกวดขันผู้ค้าโดยเฉพาะในจุดที่ไม่อนุญาตให้ค้าขาย ซึ่งมาตราการดังกล่าวได้มีการประชุมร่วมกับทางบชน.แล้ว ทั้งนี้ กทม.จะเร่งจัดทำทะเบียนผู้ค้า การกำหนดพื้นที่ และกำหนดระยะเวลาการขายตามความเหมาะสม โดยจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าได้ทราบต่อไป และจะมีการประชุมผู้อำนวยการเขตภายใน 7 วัน
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีการพูดถึงกัน นั้น กทม.ได้มีการกวดขันและกำชับอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นผู้ค้าจะไม่มีการเสียค่าธรรมเนียมหรือเสียเงินนอกระบบแต่อย่างใด ขณะนี้กทม.ได้มีการออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ โดยผู้ว่าฯกทม. ลงนามแล้ว ซึ่งประกาศดังกล่าวจะนำไปแจกให้ผู้ค้า เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะเป็นไปในแนวเดียวกัน โดยหลักเกณฑ์การตั้งวางขายสินค้าในที่สาธารณะ มีจำนวน 8 ข้อ ดังนี้ 1. ต้องไม่ตั้งวางอุปกรณ์การค้าขายยื่นล้ำออกนอกเขตแนวเส้นที่กำหนด 2. ต้องไม่ค้าขายล้ำออกนอกระยะขอบเขตที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ 3. ต้องไม่ค้าขายล้ำลงบนผิวจราจร ยกเว้นจุดที่เคยได้รับอนุญาต ต้องจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์การค้าออกจากบริเวณที่ค้าขายหลังการเลิกขายทุกวัน 5. ต้องรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ก่อสิ่งรกรุงรังรอบบริเวณที่จำหน่ายสินค้าทั้งในระหว่างค้าขายและเลิกค้าขาย 6. ต้องทำการค้าระหว่างเวลาที่กรุงเทพมหานครกำหนดให้ 7. ต้องมีเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น กรณี เช่น การค้าขายที่มีการทอดปิ้ง ย่าง เป็นต้น และ 8. ต้องไม่ก่อเสียงดัง หรือก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ใช้เครื่องขยายเสียง หรือติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามกฎหมายปรับไม่เกิน 2,000 บาท และอาจถูกเพิกถอนการอนุญาตให้ค้าขายด้วย สำหรับผู้ค้ารายใดที่ถูกเรียกเก็บเงินโดยมิชอบขอให้แจ้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 222-8877 หรือ สำนักเทศกิจ โทรศัพท์หมายเลข 466-1067 หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กรุงเทพมหานคร (ตลอด 24 ชั่วโมง) หมายเลข 1555
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า โครงสร้างของสำนักเทศกิจ หน่วยงานเทศกิจ อาจจะต้องมีการปรับปรุงเพราะขณะนี้ภารกิจของเทศกิจได้รับมอบหมายค่อนข้างกว้างขวาง ทั้งทางด้านการจราจร ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ทำให้หน้าที่หลักของเทศกิจอาจจะอ่อนลงไป กทม.จึงต้องการให้เทศกิจมามุ่งเน้นในหน้าที่หลักโดยเฉพาะเรื่องการกวดขันความเป็นระเบียบเรียบร้อยบนทางเท้าในเรื่องจัดระเบียบ หาบเร่-แผงลอยเป็นหลัก และอาจจะต้องการปรับปรุงโครงสร้างให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีลูกจ้างเทศกิจจำนวนมากไปดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับ อำนาจหน้าที่ จึงอาจจะเกิดความไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ได้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างทั้งหมดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและมีมาตรการดีขึ้น--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ