กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 4 ตุลาคม 2560 ที่ห้องประชุมลิบง ศาลากลางจังหวัดตรัง ชั้น 2 ดร.ทิพวรรณ จันทมณีโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาระบบบริหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พร้อมด้วย ดร.สมโภชน์ เกตุแก้ว หัวหน้าหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและการจัดการ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ร่วมแถลงข่าวประจำสัปดาห์ต่อสื่อมวลชน ถึงประเด็นการเตรียมความพร้อมงานในส่วนของการแสดงบนเวที งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระเมรุมาศจำลอง ลานวัฒนธรรม สนามกีฬาทุ่งแจ้ง อ.เมือง จ.ตรัง ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้รับมอบหมายจากจังหวัดตรัง ให้เป็นเจ้าภาพดูแลในส่วนของการแสดงมหรสพสมโภช โดยการแถลงข่าวในวันนี้ มี นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการแถลงข่าว พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวในด้านต่างๆ ด้วย
ดร.สมโภชน์ กล่าวว่า ในส่วนของการแสดงมหรสพสมโภชที่ใช้ในการแสดงบนเวทีในพระราชพิธีฯ นั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้มีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งในจังหวัดตรัง ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ตลอดจนระดับอุดมศึกษา เพื่อน้อมนำการแสดงที่ดีที่สุดถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยอย่างใหญ่หลวง โดยชุดการแสดงทั้งหมด แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ดนตรี นาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ และการแสดงพื้นบ้าน ใช้ศิลปิน นักแสดง และทีมงานทั้งสิ้นกว่า 700 คน
ดร.สมโภชน์ กล่าวในรายละเอียดของการแสดงแต่ละชุดว่า ในส่วนของดนตรี ได้จำแนกออกเป็น 3 ชุดการแสดง คือ ชุดดนตรีซิมโฟนิค จากโรงเรียนในสังกัดกลุ่มโรงเรียนเทศบาล ชุดดนตรีแจ๊ส จากกลุ่มนักดนตรีอิสระลูกหลานคนตรัง ชุดดนตรีไทย จากโรงเรียนสภาราชินี ด้านนาฏศิลป์ไทย มี 2 ชุดการแสดงคือ โขนรามเกียรติ์ ชุด พระรามข้ามสมุทร – ยกรบ และชุดระบำมาตรฐาน ชื่อชุดรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ด้านชุดการแสดงนาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ ดร.สมโภชน์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้โรงเรียนแต่ละแห่งที่เป็นเครือข่ายนาฏศิลป์ออกแบบสร้างสรรค์งานแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติอย่างสูงสุด โดยแบ่งออกเป็น นาฏยลีลา จำนวน 3 ชุด และจินตลีลา อีกจำนวน 7 ชุดการแสดง นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากศิลปินพื้นบ้าน สมาคมโนราจังหวัดตรัง และชมรมหนังตะลุงจังหวัดตรัง ขนทัพหนังตะลุงจากศิลปินหนังตะลุงในจังหวัดตรัง และการแสดงโนรา อีก 1 ชุดการแสดง ร่วมในมหรสพสมโภชครั้งนี้ด้วย โดยทุกคนที่ร่วมแสดงหรือแม้แต่ในส่วนของทีมงานเบื้องหลังการแสดง ล้วนทำด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดี และตั้งใจสร้างสรรค์งานครั้งนี้อย่างเต็มที่ เพราะอยากแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย.