กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สถานการณ์ความผันผวนและวิกฤติด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันหรือเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผันแปรตามปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การนำพลังงานทดแทนมาใช้ยังทำได้ในขอบเขตจำกัด การดูแลเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในระดับที่มีความเหมาะสม หรือคุ้มค่าเป็นแนวทางที่สำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามแนวคิดด้านการอนุรักษ์พลังงานยังไม่เกิดขึ้นในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากขาดการบูรณาการเชื่อมโยงโครงการต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้กระบวนการเรียนรู้ เรื่องการพลังงานทดแทนยังคงขาดความต่อเนื่อง จากปัญหาและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น ทำให้ประเทศไทยต้องมีการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ ภาคส่วน รวมถึงการปลูกจิตสำนึก และถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงานให้เยาวชน อย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยการพัฒนาระบบการ เรียนรู้เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรพลังงานและการอนุรักษ์พลังงานที่มีประสิทธิภาพ จึง จำเป็นต้องจัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน ตลอดจนระบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในขั้นการนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวันและการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคุณภาพกำลังคน ซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเรียนและกำลังศึกษาอยู่ในระบบสถานศึกษาและเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญของการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนในภาวะที่ประเทศต้องการความร่วมมือของสังคมทุกภาคส่วนได้มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นในระดับบ้าน อยู่อาศัย โรงเรียน สังคม โดยจัดอบรมให้ความรู้ภายในโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สามารถบูรณาการประเด็นความรู้ทางด้านพลังงานทดแทนเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการในโรงเรียน จึงได้ริเริ่มจัดโครงการปลูกจิตสำนึกด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเยาวชน
โครงการนี้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2559 โครงการในครั้งนี้จะดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ มีการกำหนดพื้นที่นำร่องโครงการทั้งหมด 6 พื้นที่ ประกอบด้วย ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑล โดยทำการคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการพื้นที่ละ 5 โรงเรียน รวมทั้งหมด 30 โรงเรียน สำหรับการดำเนินงานจะมุ่งเน้นการให้ความรู้พื้นฐานและปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ มีการใช้สื่ออุปกรณ์ในการสอนที่ทันสมัย เช่น อินโฟกราฟฟิก (Infographics) การใช้สื่อแบบภาพเคลื่อนไหว (Motion Clip) เพื่อง่ายต่อการอธิบาย และสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเนื้อหาสำคัญของโครงการจะมุ่งเน้นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ประโยชน์และความสำคัญของพลังงานทดแทนในอนาคต รวมถึงศักยภาพการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรรู้สำหรับเยาวชนในประเทศไทย
ผลจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 30 โรงเรียนนั้นในผลการตอบรับในระดับดีถึงระดับดีมากในความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการฝ?กอบรมโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบประเมินสอบถาม อาจเป็นเพราะการฝึกอบรมในครั้งนี้สอดคล้องกับ ลักษณะของการจัดกิจกรรม และการนำสื่อการสอนที่ทันสมัยโดยใช้เครื่องมือสื่อสารในรูปแบบใหม่อย่าง Infographics และ motion clip มาใช้ในระหว่างการฝีกอบรมทำให้ง่ายต่อความเข้าใจของ นักเรียนและมีความสนุกในการเรียนรู้สิ่งใหม่จากเนื้อหาที่ยากทำให้สนุกและเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสื่อที่ดีและเหมาะสมกับการส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ให้แก่นักเรียน และนอกจากนี้เนื้อหาที่ นำมาสอนมีความเหมาะสมกับวัยและความสนใจโดยเนื้อหาที่นำมาฝึกอบรมมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ภาษาที่ใช้เข้าใจได้ง่าย ภาพประกอบชัดเจน ดังนั้นจึงทำให้ผลการประเมินการฝึกอบรมในครั้งนี้ นักเรียนมีความความพึงพอใจในระดับดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพึงพอใจในด้านของความรู้ก่อน และหลังการฝึกอบรมเรื่องพลังงานทดแทน มีส่วนช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากอนุรักษ์พลังงานของ นักเรียนให้ช่วยกันประหยัดพลังงานและเรียนรู้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น
จากโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการปลูกจิตสำนึกการใช้พลังงานทดแทนของเยาวชนในสถานศึกษาได้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งผลที่ได้นอกจากจะเกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียน ซึ่งเป็นเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชาติแล้วยังขยายผลต่อไปยังผู้ปกครองซึ่งอยู่ชุมชนให้เกิดจิตสำนึกร่วมกันในการอนุรักษ์พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทน ย่อมเป็นการวางรากฐานแนวความคิดด้านพลังงานทดแทน การประหยัดและอนุรักษ์พลังงานที่จะฝังแน่นอยู่ในสังคมไทยให้เกิดประสิทธิภาพและเปี่ยมด้วยศักยภาพได้อย่างแท้จริง นับได้ว่าการดำเนินโครงการปลูกจิตสำนึกด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเยาวชน ได้ก่อให้เกิดผลดีในภาพรวมต่อการจัดสรรทรัพยากรด้านพลังงานของประเทศ ทั้งยังเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อเนื่องเป็นรูปธรรม และสามารถนำแนวทางความสำเร็จที่ได้ไปใช้เพื่อวางแผนงานกับสถานศึกษาอื่น ๆ ได้ต่อไป