กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--กรมพัฒนาที่ดิน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็น 1 ใน 6 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ นับเป็นหน่วยงานแรกที่มีการทำงานแบบบูรณาการ ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งพระองค์ได้มีพระราชดำริในหลายวโรกาสให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุแบบผสมผสาน บริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการคณะต่างๆ โดยยึดแผนแม่บทเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานทุกๆ กิจกรรมเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้และเพื่อเป็นการสนองเบื้องพระยุคลบาท และยังให้ความสำคัญกับการขยายผลการพัฒนาไปสู่พี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านที่ดินทำกิน ทั้งมีพระบรมราโชบายในการเสริมสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชนในชนบท เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับ"พออยู่พอกิน" โดยยึด "คน" เป็นหลักในการพัฒนา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ แห่งนี้
จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา ทั้งด้านดิน น้ำ พืช สัตว์ ประมง ป่าไม้ อุตสาหกรรม และการสาธารณสุข โดยได้รวบรวมและจัดแสดงไว้ในรูปแบบ "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต"คือ มิได้เป็นเพียงสถานที่ที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งของเท่านั้น หากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และยังเป็น"ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ" ในด้านการพัฒนาเกษตรกรรมและการพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด และดินพรุ ที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัด พร้อมทั้งนำผลสำเร็จของโครงการนี้ไปเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรให้รู้จักวิธีการทำมาหากิน รู้จักใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพอันนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดและดินทรายจัดในจังหวัดนราธิวาส และพื้นที่อื่นๆ เพื่อการเกษตร ต่อไป
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ มีพื้นที่ 1,740 ไร่ ประกอบด้วย 3 พื้นที่ คือ 1.อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน จำนวน 1,030 ไร่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้กรมชลประทานจัดทำขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ และส่งน้ำไปยังพื้นที่แปลงทดลองภายในศูนย์ฯ และพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ 2.พื้นที่โครงการสวนยางเขาสำนัก จำนวน 200 ไร่ แบ่งพื้นที่เพื่อสาธิตการปลูกยางพารา การปลูกพืชแซมในสวนยาง ทั้งไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยามวิกฤติ โครงการผลิตไม้ดอกไม้ประดับพื้นที่ภาคใต้ 3.พื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จำนวน 510 ไร่ประกอบด้วยพื้นที่ดอน ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน ห้องประชุม อาคารที่พัก ที่ตั้งหน่วยงานร่วมดำเนินงาน โรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม แปลงสาธิตการเลี้ยงสัตว์ ป่าพรุจำลอง และแปลงกิจกรรมต่างๆ ส่วนพื้นที่ลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นแปลงศึกษา ทดลองวิจัย อาทิ โครงการแกล้งดิน โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ แปลงสาธิต ทดสอบการปลูกข้าว พืชผัก พืชไร่ ไม้ผล และปาล์มน้ำมัน ที่นี่จึงเปรียบเสมือน ศาสตร์ของพระราชา ซึ่งอุดมด้วยสรรพวิทยาสาขาต่างๆ มีนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่ส่วนราชการ และพี่น้องประชาชนได้มาศึกษา เรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งด้านดิน น้ำพืช สัตว์ ประมงป่าไม้ อุตสาหกรรม และการสาธารณสุข ซึ่งทุกคนทุกคณะที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้หรือฝึกปฏิบัติ จะมีวิทยากรคอยถ่ายทอดความรู้ในทุกด้าน ผู้ชมงานสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง ดังพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯความว่า"...เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คนทุกระดับสามารถที่จะมาดูจะว่าเป็นโรงเรียนก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นที่มาดูมาศึกษาก็ได้ คือเป็นทัศนศึกษา พานักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยก็ตาม หรือไม่ใช่นักเรียน เป็นข้าราชการทุกชั้นตั้งแต่ชั้นผู้น้อยมาจนถึงชั้นผู้ใหญ่ทุกระดับทุกอย่าง คือหมายความว่า ทุกหน้าที่สามารถมาดูในแห่งเดียวกัน วิธีการที่จะพัฒนาในสาขาต่างๆ ของวิชาการ อันนี้เท่ากับเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่จะมาดูอะไรมีวิชาการใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา นอกจากนั้นไปดูศูนย์ศึกษาก็ไปหย่อนใจก็ได้ เพราะว่าทำงานเครียด ก็ไปเที่ยวศูนย์ศึกษาเหมือนไปเที่ยวสวนสาธารณะก็ได้ ได้ความรู้ด้วย นี่แหละเป็นหลักของศูนย์ศึกษาการพัฒนา..."
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ที่เรียกว่า ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้บริการคณะที่มาเที่ยวชมงานได้ศึกษา เรียนรู้ด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านดินมีการสาธิตการปรับปรุงพัฒนาที่ดินในพื้นที่ของศูนย์ฯ เน้นการเรียนรู้เรื่องดินการปรับปรุงบำรุงดินซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงประกอบไปด้วยแปลงสาธิต ทดลอง วิจัยด้านดิน เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ชมงานได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้ทุกกิจกรรมในพื้นที่จริง เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น โครงการแกล้งดิน แปลงสาธิตการปลูกข้าวโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ได้มีจัดหลักสูตรต่างๆ ในการฝึกอบรมเกษตรกรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลสำเร็จไปสู่พื้นที่ราษฎร ทั้งการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการปลูกข้าว พืชผัก ไม้ผล และส่งเสริมให้รู้จักใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างต่อเนื่อง จนเกษตรกรมีความรู้ความชำนาญเพิ่มขึ้นและรู้จักใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพอันนำไปสู่ความยั่งยืนและพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง ด้านปศุสัตว์สาธิตการเลี้ยงและดูแลสุขภาพสัตว์ ทั้งสัตว์ปีกและสัตว์เคี้ยวเอื้องในโรงเรือนและที่โล่งแจ้งอย่างถูกสุขลักษณะ การปลูกพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่พรุ และส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น เป็ดเทศ ไก่พันธุ์พื้นเมืองลูกผสม ไก่เบตง แพะกึ่งเนื้อกึ่งนม แกะเนื้อ กวางรูซ่า ซึ่งล้วนเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ หรือจะเป็นอาชีพเสริมรายได้ในครัวเรือน และการถ่ายทอดความรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย และผู้สนใจ พร้อมทั้งสนับสนุนพันธุ์สัตว์ให้กับเกษตรกรในเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรรู้จักประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนด้านประมงสาธิตการเลี้ยงปลาในบ่อดินเปรี้ยวเช่น ปลาบ้า ปลานิล ปลาตะเพียน กบ และการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด การอนุบาลลูกปลาในบ่อซีเมนต์ จัดแสดงปลาสวยงามที่มีในพื้นที่พรุ รวมไปถึงการทำเกษตรวิถีประมงซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพระหว่างการเลี้ยงสัตว์น้ำการเพาะปลูกบนขอบบ่อ และจัดฝึกอบรมถ่ายทอดให้ความรู้การฝึกปฏิบัติการเลี้ยงปลาอย่างเป็นอาชีพสู่พื้นที่จริงของเกษตรกรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพด้านพืชสาธิตการปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล ปลอดภัยจากสารพิษ สาธิตการปลูกพืชแซมในสวนยางพารา รวมไปถึงการเพาะเห็ดทั้งเห็ดฟางและเห็ดในถุงพลาสติก เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางรม ฯลฯ และพืชแซมในสวนยางพาราทั้งไม้ผล ไม้ดอก และการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยในสวนยางพารา เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการปลูกผักไร้ดิน สำหรับเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรในรายที่มีพื้นที่ทำกินน้อยแต่ทำให้มีรายได้ประจำวันเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการปลูกพืชผักในภาชนะ การปลูกพืชแบบเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จำกัด เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างคุ้มค่า อันนำไปสู่ความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งให้การส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งกล้าพืชผัก พันธุ์ไม้ผล และปุ๋ยเคมีด้านป่าไม้ ปลูกไม้ป่าพรุและป่าเสม็ดขาวเพื่อศึกษาความแตกต่างของพรรณไม้ในป่าพรุ การสร้างป่าพรุจำลอง โดยจัดเป็นเส้นทางเดินศึกษาศึกษาธรรมชาติป่าพรุ เพื่อศึกษาระบบนิเวศน์ธรรมชาติของป่าพรุและวิวัฒนาการการเกิดพรุ แนะนำพรรณไม้และสมุนไพรในป่าพรุ ผู้เที่ยวชมงานจะได้รู้จักป่าพรุและประโยชน์ของป่าพรุ อีกทั้งวิถีชีวิตของคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่าในการดำรงชีวิต ศึกษาการนำไม้และใบไม้เสม็ดเพื่อการแปรรูปไม้เสม็ดขาวเป็นเฟอร์นิเจอร์และของที่ระลึก และการเพาะชำกล้าไม้โตเร็ว กล้าไม้มีค่า กล้าไม้ป่า ไม้ประดับและไม้มงคล ในโครงการปลูกป่าในใจคน สำหรับแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปตลอดทั้งปี เพื่อนำไปปลูกที่บ้าน ชุมชน และสถานที่ต่างๆ ด้านหัตถกรรมอุตสาหกรรมสาธิตและถ่ายทอดความรู้การประกอบอาชีพงานฝีมือ โดยนำวัชพืชและวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น กระจูด เตย หญ้าแฝก ปาหนัน การทำผ้าบาติก การทำเรือกอและจำลอง การทอผ้าลวดลายต่างๆ ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนขนาดเล็ก และกลุ่มศิลปาชีพของหมู่บ้าน รวมทั้งงานฝีมืออื่นๆ สามารถสร้างอาชีพและรายได้ในครัวเรือนและชุมชนอย่างต่อเนื่องด้านสาธารณสุขรณรงค์และป้องกันกำจัดโรคเท้าช้างให้หมดสิ้นทุกพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส โดยมีเจ้าหน้าที่ออกบริการเจาะเลือดของราษฎรทุกหมู่บ้านเพื่อตรวจหาเชื้อโรคเท้าช้างและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเท้าช้าง รณรงค์การกินยาเพื่อป้องกันโรคเท้าช้างประจำทุกปี ศูนย์การเรียนรู้ด้านสุขภาพพิกุลทอง รวบรวมองค์ความรู้เพื่อการศึกษาเรียนรู้ด้านโรคติดต่อนำโดยแมลงและโรคติดต่อประจำถิ่นอื่นๆ (โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน โรคหนอนพยาธิ ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยา) พร้อมทั้งบริการให้ความรู้คำแนะนำและการตรวจรักษาเบื้องต้น นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์กันยุง เช่น ธูปไล่ยุง โลชั่นป้องกันยุงกัด พร้อมจำหน่าย เพื่อให้ผู้มาศึกษาดูงานได้เรียนรู้และฝึกทำ หรือซื้อไปลองใช้ที่บ้าน
นอกจากมีกิจกรรมต่างๆ ข้างต้นแล้ว ภายในศูนย์ฯ ยังจัดให้มีสวนสวย ที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสต่างๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ และพรรณไม้ที่ปลูกรวบรวมไว้ภายในสวน...และการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่จัดทำขึ้นไว้หลายสวน โดยเฉพาะสวนเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 ในโอกาสต่างๆ โดยมีการปลูกพืชผัก ไม้ผล พืชสมุนไพร พันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ ไม้มงคล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มาเที่ยวชมงานได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ได้ เช่น สวน 50 ปี ครองราชย์จัดเป็นสวนรวบรวมพืชตระกูลปาล์ม กว่า 60 ชนิด เช่น สิบสองปันนา ช้างไห้ ปาล์มแสด มะแพร้ว ฯลฯ สวน 72 พรรษา ซึ่งจัดเป็นสวนรวบรวบพันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น ต้นธัมมัง ไม้ค้อนตีหมา มะม่วงหาวมะนาวโห่ ไข่เน่าพืชสมุนไพรนานาชนิด สวนไม้มงคลเฉลิมพระชนม 76 พรรษาสวนสาธิตการเฉลิมเกียรติ 80 พรรษาสวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา และสวนพฤกษศาสตร์พรรณไม้ม่วงเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มีการรวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีสีม่วง ทั้ง ใบ ดอก ผล และหัว และจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อให้ผู้ศึกษาชมงานมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้คงอยู่สืบไป นอกจากนั้น ภายในศูนย์ฯ ยังมีอาคารเฉลิมพระเกียรติที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ดินเพื่อให้ผู้มาเที่ยวชมงานได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับดินที่มีปัญหาในการประกอบอาชีพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญในการจัดการดิน และมีพระอัจฉริยภาพด้านดินจนเป็นที่ประจักษ์ทำให้เกษตรกรได้รู้จักใช้ที่ดินในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน อันนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพระราชกรณียกิจด้านดินในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการใช้ปุ๋ยหมักปรับปรุงบำรุงดิน ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำองค์ความรู้ของศาสตร์พระราชา ไปเผยแพร่และถ่ายทอดแก่เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ จนประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปราดเปรื่องในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการเกษตร ซึ่งกิจกรรมการดำเนินงานด้านต่างๆที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ทำการศึกษาตามแนวพระราชดำริ ที่พระองค์ได้พระราชทานมาอย่างต่อเนื่องนั้น นับเป็นศาสตร์แห่งพระราชา นำพาเกษตรกรไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริงอันเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรและประเทศชาติอย่างมากมาย นับเป็นศาสตร์ ที่ทรงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ควรแก่การจดจำและบันทึกลงในจิตใจของเหล่าพสกนิกรชาวไทย ตราบนิจนิรันดร์