กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
สภาวัฒนธรรมยุโรป (KULTUR-FORUM EUROPA) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2535 จากการริเริ่มของ ฮันส์-ดีทริช เกนส์เชอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันในช่วงเยอรมนีรวมประเทศ และส่งเสริมความคิดเห็นด้านวัฒนธรรมยุโรปทุกสาขา ได้ประกาศเป็นทางการว่า ผู้ชนะรางวัลประสิทธิภาพด้านวัฒนธรรมยุโรป (European Award for Cultural Achievement) ประจำปี 2560 ได้แก่ สมเถา สุจริตกุล คีตกวี วาทยกรและประพันธกรไทย
สภาวัฒนธรรมยุโรปยกย่องสมเถาสำหรับผลงานด้านความหลากหลายของวัฒนธรรมว่า ในฐานะทูตวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตก สมเถาได้ฟันฝ่าอุปสรรค ก้าวข้ามเส้นแบ่งเขตแดนและความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ และประสบความสำเร็จในการประสานสัมพันธไมตรีและความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับยุโรปซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ประธานสภาวัฒนธรรมยุโรปจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมอบรางวัลให้ สมเถา สุจริตกุล ด้วยตนเอง ในวันที่ 18 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวัน International Migrants Day ของสหประชาชาติ ในงานแสดงคอนเสิร์ตที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งสมเถาจะทำหน้าที่วาทยกร อำนวยซิมโฟนีหมายเลข 9 ของคีตกวีปรมาจารย์เบโธเฟน
ดร. ปีเตอร์ ปรูเกล เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้ทวิตเตอร์ข้อความถึงสมเถาว่า"สมควรอย่างยิ่ง" และคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ส่งข้อความแสดงความยินดีและกล่าวว่าสมเถาคือ "ความภาคภูมิใจของประเทศไทย"
"รางวัลนี้ทำให้ผมตื่นเต้นและรู้สึกเจียมตัวเป็นอย่างมาก" สมเถากล่าวเมื่อได้ทราบว่าคีตกวีที่ไดัรับรางวัลนี้ในอดีตมีเพียงคนเดียวคือ ฮันส์ เวอร์เน่อร์ เฮนซเซอร์ ผู้เป็นหนึ่งในบรรดานักดนตรีเยอรมันที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้ชนะรางวัลรายอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลสำคัญ อาทิ จอร์จ ดูเฟรสเน (นักแสดง) ดั๊ก ไรท์ (นักประพันธ์อเมริกัน) ดมิทรีส ทซาตโซส (นายกเทศมนตรีกรุงเอเธนส์ กรีก) เอลิซาบิตตา เพนเดอเรสก้า (ผู้รังสรรค์เทศกาล "คราคอฟ เบโธเฟน" ) ผู้กำกับการแสดง นักออกแบบลีลาระบำ และนักการเมือง ฯลฯ ผู้ได้รับรางว้ลคนแรกคือ แอนน์มารี เรงเกอร์ สตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและสตรีคนแรกที่ได้รับการเสนอนามเป็นประธานาธิบดีโดยพรรคการเมืองใหญ่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สภาวัฒนธรรมยุโรปได้มีการมอบรางวัลประเภทอื่นคือรางวัลEuropean Tolerance ผู้รับรางวัลนี้ในปี 2553 ได้แก่นายแพทย์ชาวเยอรมัน เดิร์ค เวเบอร์-อารยธรรมโสภณ สำหรับผลงานเกี่ยวกับเด็กพิการและป้องกันโรคเอดส์ในประเทศไทย
สมเถาเชื่อว่าการที่เขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสื่อนานาชาติจำนวนมากให้ความสนใจโครงการทศชาติ มิวสิคดราม่าชุดจากทศชาติขาดกซึ่งเขาเป็นผู้รังสรรค์ เมื่อเสร็จสมบูรณ์ทั้งสิบพระชาติ นิตยสารโอเปร่านาวแห่งกรุงลอนดอนกล่าวว่าจะเป็น 'ผลงานคลาสสิคขนาดมโหฬารที่สุดในโลก' การนำเสนอการแสดงชุดนี้บางเรื่องในยุโรปเมื่อปีที่แล้วสร้างความตื่นตลึงให้ผู้ชมชาวยุโรป ส่งผลให้ประเทศไทยปรากฏเป็นจุดเด่นในแสงสีแห่งวัฒนธรรมระดับนานาชาติ
"การที่เวปไซด์ของสภาวัฒนธรรมยุโรปประกาศเป็นทางการว่า 'ประเทศไทยชนะรางวัลประจำปี 2560' มีความหมายสำหรับผมมาก" สมเถากล่าว "สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมกำลังจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ผมมีความเชื่อมั่นว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่ไปสู่การจัดลำดับใหม่ของแผนที่โลกในด้านวัฒนธรรม และบนแผนที่ใหม่ ประเทศไทยจะปรากฏเป็นศูนย์กลางแห่งภาคพื้น ผมจึงทิ้งงานอาชีพในตะวันตกซึ่งทำมานานถึงครึ่งศตวรรษเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน บัดนี้มันเกิดขึ้นจริงๆ ที่นี่ ผมปลื้มใจมากที่เป็นส่วนเล็กๆ ของการปฏิวัติครั้งนี้ และภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ในนามศิลปินทุกคนและประชาชนคนไทย"