กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
องค์กรและบุคคลซึ่งมีความหลากหลายทั้งสิ้น 21 ท่านจากทั่วภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกได้รับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายเพื่อรับรางวัล HERO Awards ซึ่งเป็นงานกาล่าระดมทุนที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องผู้ที่อุทิศตนทำงานให้กับชุมชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและงานด้านเอชไอวีจากทั่วภูมิภาคนี้
งานมอบรางวัล HERO Awards ซึ่งย่อมาจาก HIV (เอชไอวี) Equality (ความเสมอภาค) และ Rights (สิทธิ์) เป็นงานครั้งพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อเชิดชูผลงานที่โดดเด่นในการรับมือกับปัญหาเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและการต่อสู้เพื่อชุมชนเลสเบี้ยน (Lesbian) ชายรักชายหรือเกย์ (Gay) คนรักสองเพศ (Bisexual) และคนข้ามเพศ(Transgender) หรือที่เรียกว่า "LGBT" ในภูมิภาคนี้
ผู้เข้ารอบสุดท้าย 21 ท่านได้รับการคัดเลือกจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อกว่า 350 ท่านจาก 7 ประเภทซึ่งสมาชิกจากชุมชนต่างๆ ทั่วภูมิภาคเป็นผู้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัล โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้าย 3 ท่านและตัดสินให้ผู้ชนะ 1 ท่านในแต่ละประเภท ผู้ได้รับรางวัลในแต่ละประเภท รวมทั้งสิ้น 7 ประเภทจะได้รับมอบรางวัลในงานกาล่าและค็อกเทลปาร์ตี้ในค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ
งานมอบรางวัลในครั้งนี้นับว่าเป็นงานครั้งพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 10 ปีของมูลนิธิแอ๊พคอม (APCOM Foundation) ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนทำงานด้าน HIV และ LGBT ชั้นนำในภูมิภาคนี้ นอกจากนั้น ในงานนี้จะมีการระดมทุนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานที่สำคัญของมูลนิธิแอ็พคอมในการให้ความรู้ การป้องกัน การรักษา การดูแล และการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาเอชไอวี รวมไปถึงการรณรงค์สิทธิมนุษยชนด้วย
คุณมิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ๊พคอม กล่าวว่า คณะกรรมการรู้สึกประทับใจอย่างมาก และผู้ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมีความหลากหลายและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ "คณะกรรมการรู้สึกลำบากใจมากในขั้นตอนการคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้าย เพราะว่าผลงานและความสำเร็จของผู้ได้รับเสนอชื่อทุกท่านล้วนมีความโดดเด่นในแบบของตัวเองทั้งสิ้น" คุณมิดไนท์กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมีความเห็นตรงกันว่า ผู้เข้ารอบสุดท้ายที่คัดเลือกมานั้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างแรงกล้าเพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในเรื่องสุขภาพและสิทธิ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้ติดเชื้อเอชไอวี และบุคคลเหล่านั้นสมควรได้รับการยกย่อง ผมขอแสดงความยินดีกับผู้เข้ารอบสุดท้ายและยินดีที่จะได้ต้อนรับทุกท่านและสมาชิกจากชุมชนของเราที่จะมาร่วมเป็นเกียรติฉลองความสำเร็จด้วยกันในงานมอบรางวัลที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ครับ"
งานมอบรางวัล HERO Awards ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายชุมชนด้าน HIV และ LGBT อีกมากมายในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายกลุ่มบุคคลข้ามเพศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Transgender Network - APTN), เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย (Asia Pacific Network of People Living With HIV/AIDS - APN+) และสมาคมเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และอินเตอร์เซ็กส์ นานาชาติในเอเชีย(International Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender and Intersex Association in Asia - ILGA Asia) โดยโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ด้วย
HERO Awards: วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2560 เวลา 18.30 – 23.00 น. | โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ | www.apcom.org/HERO
ผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัล HERO Awards ในประเภทต่างๆ ได้แก่ Community Hero (ฮีโร่ของชุมชน)
· ชิ เชีย เหวย (Chi Chia-wei) (ไต้หวัน): ผู้นำการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไต้หวัน โดยเป็นผู้เดินหน้าเรียกร้องสิทธิ์ให้แก่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากว่า 30 ปีโดยไม่มีความหวั่นเกรง รวมไปถึงการเดินเรื่องยาวนานหลายสิบปีเพื่อช่วยผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันออกกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันในปีนี้ ซึ่งนับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่
· ซุลฮาส มานนาน (Xulhaz Mannan) (บังคลาเทศ): ผู้สนับสนุน ผู้ตีพิมพ์ และผู้จัดระเบียบชุมชนสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศบังคลาเทศ ผู้ทำงานด้วยความมุ่งมั่นและไม่หวั่นเกรง ผู้เสียสละทุกสิ่งเพื่อเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวจนในที่สุดเขาถูกกลุ่มผู้ต่อต้านความหลากหลายทางเพศหัวรุนแรงฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดที่เมืองธากาเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา
· ดร. ไฮเดกิ สุนะกาวา (Dr Hideki Sunagawa) (ญี่ปุ่น): ผู้ริเริ่มบุกเบิกงานด้านเอชไอวีและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศญี่ปุ่นมากว่า 25 ปีในฐานะนักวิจัย นักรณรงค์ และนักชุมชนสงเคราะห์ และเป็นผู้ส่งเสริมสิทธิ์และวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเป็นผู้นำในเทศกาล โตเกียวไพรด์พาเหรด (Tokyo Pride Parade) และ พิงค์ดอทโอกินาวา (Pink Dot Okinawa)
Transgender Hero (ฮีโร่สำหรับคนข้ามเพศ)
· คาร์ตินี ชลามาห์ (Khartini Slamah) (มาเลเซีย): ผู้อุทิศตนเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แก่กลุ่มคนข้ามเพศ โดยมีประสบการณ์การทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติมากว่า 30 ปี และทำงานร่วมกับชุมชนกลุ่มคนข้ามเพศและผู้ขายบริการทางเพศอย่างใกล้ชิด
· ลักษมี นารยัน ทริปาธี (Laxmi Narayan Tripathi) (อินเดีย): ผู้มีบทบาทในการรณรงค์เรียกร้องสิทธิ์ให้แก่กลุ่มคนข้ามเพศ ผู้มีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้กฎหมายยอมรับและเรียกร้องสิทธิ์ให้กับฮิจรา (คนข้ามเพศ) ในประเทศอินเดีย
· โจอี้ โจลีน มาทาเอลี (เJoey Joleen Mataele) (ตองกา): ผู้ทุ่มแรงกายแรงใจกว่า 25 ปีในการพัฒนาสุขภาพและสิทธิ์สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศและกลุ่มคนอื่นๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศครอบคลุมทั่วภูมิภาคแปซิฟิกใต้
HIV Hero (ฮีโร่ผู้ต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี)
· กอตาม ยาดาฟ (Gautam Yadav) (อินเดีย): นักรณรงค์และแบบอย่างที่น่ายกย่องสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่อายุยังน้อยในประเทศอินเดีย
· แอนดรูว์ ทาน (Andrew Tan) (มาเลเซีย): ผู้ร่วมก่อตั้ง Malaysian Positive Network เป็นผู้สนับสนุนไฟแรง และเป็นผู้ให้การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศมาเลเซีย
· ปลิตา วิชยบันดารา (Palitha Vijayabandara (ศรีลังกา): ต้นแบบผู้สร้างแรงบันดาลใจและผู้สนับสนุนเรียกร้องสิทธิ์และสุขภาพที่ดีให้กับชุมชนและกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไอเอชวีในประเทศศรีลังกา
Social Justice (ความยุติธรรมในสังคม)
· กาซิม อิคบาล (Qasim Iqbal) (ปากีสถาน): ผู้ริเริ่มบุกเบิกงานด้านสุขภาพและสิทธิ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศปากีสถานและผู้ก่อตั้งเครือข่าย NAZ ระดับประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในชุมชน
· ยูลิ รัสตินาวาติ (Yuli Rustinawati) (อินโดนีเซีย): ผู้สนับสนุนที่มีผลงานโดดเด่นในด้านสิทธิ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้ร่วมก่อตั้ง Arus Pelangi ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนในกรุงจาการ์ต้าที่ช่วยส่งเสริมและปกป้องสิทธิ์ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศอินโดนีเซีย
· เอ็ดมันด์ เซ็ทเทิล (Edmund Settle) (ประเทศไทย): ผู้นำในการสนับสนุนด้านสุขภาพและสิทธิ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้ติดเชื้อเอชไอวีในภาคพื้นเอเชียแปซฟิก
Health & Wellbeing (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี)
· ดร. ฟริทส์ แวน กรินสเวน (Dr Frits van Griensven) (ไทย): นักวิจัยด้านเอชไอวีที่มีผลงานโดดเด่นและผู้สนับสนุนสุขภาพชุมชน โดยมีส่วนสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
· ลอรินโด กาเซีย (Laurindo Garcia) (ฟิลิปปินส์): ผู้สนับสนุนด้านสุขภาพชุมชนและเอชไอวี ผู้สร้างแรงบันดาลใจซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการริเริ่มโครงการให้ความช่วยเหลือและป้องกันเชื้อเอชไอวีโดยอาศัยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย
· ดร. อภิเชก รอยัล (Dr Abhishek Royal) (อินเดีย): แพทย์รุ่นใหม่ที่ทุ่มเทให้กับการดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวีในประเทศอินเดีย
Community Ally (พันธมิตรชุมชน)
· ศาสนจารย์ ดร. แย็พ คิม ฮาว (Rev Dr Yap Kim Hao) (สิงคโปร์): ผู้นำคริสต์ศาสนา นิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งมีความแน่วแน่ในการสนับสนุนสิทธิ์และสุขภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวีในประเทศสิงคโปร์และในระดับนานาชาติ
· ประพันธ์ ภาณุภาค Praphan Panupak (ไทย): นักวิจัยด้านเอชไอวีที่มีผลงานโดดเด่น ผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยมายาวนาน และเป็นผู้ดำเนินงานที่ทุ่มเทให้กับชุมชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี
· เพีย วูร์ทซบาค (Pia Wurtzbach) (ฟิลิปปินส์): อดีต Miss Universe และทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
Community Organisation (องค์กรชุมชน)
· สมาคมสวัสดิการสังคมแห่งบัณฑุ (Bandhu Social Welfare Society) (บังคลาเทศ): ผู้ดำเนินโครงการต่างๆ เกี่ยวกับเอชไอวี ผู้ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ และผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนสำหรับชุมชนและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศบังคลาเทศซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล
· จี-ลิงค์ (G-Link) (เวียดนาม): คลินิกชุมชนที่มีนวัตกรรมล้ำหน้าในการป้องกันเชื้อเอชไอวีและให้บริการช่วยเหลือแก่ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในประเทศเวียดนาม
· วาจูด (Wajood) (ปากีสถาน): องค์กรเพื่อคนข้ามเพศที่ได้รับการยกย่อง เป็นผู้ให้การสนับสนุน ความช่วยเหลือ และจ้างงานกลุ่มคนข้ามเพศในเมืองอิสลามาบาดและราวัลปินดีในประเทศปากีสถาน