กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ประจำปี 2561 โดยทางสถาบันฯ เร่งจัดทำแผนการดำเนินงาน ให้สอดรับกับแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2561 อันได้แก่ การเพิ่มศักยภาพและสร้างตลาดให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นสากลและเพิ่มช่องทางการตลาด การสร้างภาพลักษณ์ (Country Image) ของประเทศไทยเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลกและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งเรื่องคุณภาพมาตรฐาน การพัฒนาการตลาดยุคใหม่ผ่านระบบออนไลน์ (Digital Marketing) การเพิ่มขีดความสามารถวิจัยและนวัตกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร รวมถึงการเป็นหน่วยงานกลางอย่างมืออาชีพ ในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบัน GIT ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์อัญมณีและเครื่องประดับโลก และเป็นสมาชิกห้องปฏิบัติการอัญมณีแนวหน้า 1 ใน 5 ของโลก ที่เรียกว่า Laboratory Manual Harmonization Committee (LMHC) อีกทั้งยังเป็น Lab เดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 17025
สำหรับโครงการเด่นๆ ที่เป็น flagship ในปี 2561 ได้แก่
1.การพัฒนาผู้ประกอบการใน 6 ภูมิภาค สถาบันฯ เห็นความสำคัญด้านการพัฒนาศักยภาพ
บุคลากรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยขณะนี้ได้ทำการลงพื้นที่ ดำเนินงานและติดตามประเมินผล ตามแผนการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ในส่วนภูมิภาค สถาบันฯ ส่งทีมงานลงพื้นที่ติดตามใกล้ชิด เริ่มจากตำบลด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ถนนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสามารถผลิต และออกแบบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และตรงความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ โดยต่อจากนี้สถาบันฯ เร่งออกแบบและจัดทำหลักสูตรด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ให้ความรู้ แบบครบวงจรทั้งด้านการผลิต การออกแบบทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติจริง โดยเน้นให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ผลงานหรือชิ้นงานที่ได้จะถูกนำมาจัดแสดงและจำหน่ายใน Museum Gallery และ Gallery Shop ของสถาบัน รวมทั้ง ประสานกับกรมพัฒนาธุรกิจฯ เพื่อต่อยอดด้านการบริหารจัดการ E-Commerce และประสานกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาดอย่างเป็นระบบ
2.Gems & Jewelry Training Institute เป็นสถาบันที่เน้นการเรียนการสอนทั้งด้านเทคนิคการผลิต การออกแบบ และการสร้างแบรนด์ และยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเจียระไนเพชร พลอยที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยสอนตั้งแต่ระดับช่างฝืมือ พนักงานขาย ไปจนถึงผู้ประกอบการ
3.แผนยกระดับคุณภาพและมาตรฐานโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน แพลทินั่ม ฯลฯ โดยวิธีการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า และการนำระบบ Hallmark มาใช้ในประเทศไทย โดยการสมัครใจ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศเพื่อเพิ่มคุณภาพในตัวเครื่องประดับ ซึ่งจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเครื่องประดับมากยิ่งขึ้น Hallmark เป็นตราสัญลักษณ์ที่ตอกหรือประทับ ลงบนสินค้า เพื่อแสดงค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า เป็นมาตรการสากลที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ ตราที่ประทับนี้ประกอบไปด้วยตราหน่วยงานกลาง ซึ่งก็คือ GIT ตราความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า และตราของผู้ผลิต
4.การรวบรวมและจัดทำ ฐานข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับทั่วประเทศ ว่าแต่ละ Clusterมีจำนวนผู้ผลิต ผู้ค้าเท่าใด อยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลาง ของประเทศ ต่อไปจะเชื่อมโยงกับ google เช่น นักท่องเที่ยวอยากซื้อพลอย ก็กดดูได้ว่ามีที่ไหนที่ใกล้ๆ บ้าง จะเริ่มต้นจากจันทบุรีก่อน
5.Gems & Jewelry One Stop Service หรือ Help Desk บริการนี้จะเป็นส่วนช่วยให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว และฉับไว ซึ่งจะเปิดให้บริการที่ชั้น 1 บริเวณห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ อาคาร ไอที เอฟ สีลม โทร 02-634-4999 ต่อ 411 – 412
6.ระบบ E-Services เชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการตรวจสอบอัญมณีออนไลน์ ให้ผู้มาใช้บริการสามารถคลิกเข้ามาดูข้อมูลใบรายงานผลอัญมณี หรือโลหะมีค่าได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งระบบนี้ GIT ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ตามนโยบายการสร้างงานและบริการที่เป็นเลิศ เพื่อสนองความต้องการของผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปที่ต้องการใช้บริการด้านการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับที่สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตลอดทั้งกระบวนการ ซึ่งสามารถตรวจสอบสถานะการตรวจสอบได้ง่ายๆ เพียงใช้แสกน QR Code ของ Sample Tracking ก็สามารถทราบได้ว่าอยู่ระหว่างสถานะใด และใช้เวลาเท่าไหร่ หรือสามารถเช็คความถูกต้องของใบรับรอง การตรวจสอบได้ ผ่านระบบ E-Identification Reports ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน
7. งาน World Jewelry Confederation: CIBJO Congress 2017 ที่กรุงเทพมหานครซึ่งถือว่าเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับวงการอัญมณีและเครื่องประดับโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 7 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมงานประมาณ 350 คน
งาน World Ruby Forum ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ภายใต้งาน ประชุม CIBJO Congress 2017 สำหรับงานประชุมในครั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมจะได้ อัพเดททุกเรื่องราว ในทุกแง่มุม ของ "ทับทิม" ตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ ผ่านประสบการณ์ของนักวิชาการ อัญมณี นักธุรกิจชั้นแนวหน้าของโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วยผู้แทนสมาคมการค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากนานาประเทศ นักลงทุน ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ นักวิจัย ผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมและสิ่งที่สำคัญนั่นคือเป็นการแสดงให้เห็นความพร้อม ของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านอัญมณีและเครื่องประดับของโลก
ทั้งนี้ สถาบันGIT ได้ทำงานบูรณการร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศไทย-ในต่างประเทศโดยให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานพลอยสี เช่นทับทิม และไพลิน อันจะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยสีชั้นนำของโลก สามารถส่งออกนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้ปีละหลายแสนล้านบาท
"GIT ยังคงเดินหน้าพัฒนางานวิจัย และบริการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมนี้" นางดวงกมล กล่าว