กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา เทียบเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา แนะเทคนิคการให้คำปรึกษาแก่อาจารย์ หวังต่อยอดความรู้ช่วยผู้เรียนปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุข
น.ส.จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการอบรมเรื่อง กระบวนการและเทคนิคการให้คำปรึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลนักศึกษา ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงจิตวิทยาแนะแนว ทำหน้าที่ช่วยเหลือให้สามารถคิดและตัดสินใจแก้ไขปัญหาของตนเองได้ กองพัฒนานักศึกษาจึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงนี้ ได้แก่ ผศ.ดร.สกล วรเจริญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาการแนะแนวและจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.สาธร ใจตรง อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา มรภ.จันทรเกษม รศ.ดร.คมเพชร ฉัตรศุภกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ และ ดร.ภูริเดช พาหุยุทธิ์ อาจารย์พิเศษคณะจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มาถ่ายทอดเทคนิคการให้คำปรึกษาแก่อาจารย์ที่ปรึกษาและผู้สนใจ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานอาจารย์ที่ปรึกษา
น.ส.จิรภา กล่าวว่า ขั้นตอนทั่วไปในการให้คำปรึกษา ประกอบด้วย สร้างความสัมพันธ์ที่ดี สำรวจปัญหา ประคับประคองจิตใจให้อารมณ์สงบ กระตุ้นให้มองหาทางเลือกและประเมินข้อดีข้อเสีย ชี้แนะช่องทางหรือข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทดลองปฏิบัติ และท้ายที่สุดคือ ติดตามผล ก่อนจะยุติการช่วยเหลือ ทั้งนี้ การให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องมีความรู้และทักษะการให้คำปรึกษาแล้ว ควรต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการตามปกติของวัยรุ่น รวมถึงพฤติกรรมอันเป็นปัญหาต่างๆ ที่พบบ่อย ที่สำคัญ อาจารย์ที่ปรึกษาต้องทราบถึงแนวทางในการให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม
ด้าน นางไปยดา สุตระ นักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ประจำกองพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า การดูแลนักศึกษาในระดับอุดมศึกษามีความแตกต่างจากการดูแลผู้เรียนในระดับอื่น เนื่องจากต้องอยู่ห่างไกลพ่อแม่ มีความเป็นอิสระในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบบการศึกษาแบบใหม่ เพื่อนใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ ตลอดจนมีปัญหาด้านสังคม ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการเรียน ดังนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำและสนับสนุนนักศึกษาทุกด้าน ทั้งทางด้านการเรียน บุคลิกภาพ การเข้าร่วมกิจกรรม สวัสดิการและการบริการ การวางแผนชีวิตและการประกอบอาชีพ ตลอดจนการอยู่ร่วมกับสังคม ซึ่งนอกจากทีมวิทยากรจะถ่ายทอดเทคนิคการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ แก่ผู้เข้าอบรมแล้ว ยังให้แสดงบทบาทสมมุติสลับกันเป็นนักศึกษากับ อาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดปรับใช้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี
นายกมลนาวิน อินทนูจิตร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้เข้าอบรม กล่าวว่า ทีมวิทยากรสามารถบรรยายได้เข้าถึงทั้งทางทฤษฎีและการนำไปใช้ปฏิบัติ โดยเฉพาะยิ่ง เช่น ระดับของจิต บุคลิกภาพจากวิวัฒนาการของชั่วอายุ ปมด้อยปมเด่น การให้ความเชื่อถือและมอบความรับผิดชอบ การเชื่อว่ามนุษย์มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาและสามารถตัดสินใจได้ การร่วมวางแผนแก้ไขอย่างเป็นขั้นตอน ภาพรวมของปัญหา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สามารถเข้าใจนักศึกษาแต่ละคนได้มากขึ้น ซึ่งผู้เป็นที่ปรึกษาจะต้องมีลักษณะที่เป็นจริง และมีท่าทางพฤติกรรมที่รับรู้ความรู้สึกของผู้รับคำปรึกษาได้อย่างถูกต้อง เช่น สีหน้า ประสานสายตา กิริยา ท่าทาง น้ำเสียง การสัมผัส ระยะห่าง ต้องขอขอบคุณหน่วยแนะแนวการศึกษาและอาชีพ กองพัฒนานักศึกษา ที่จัดโครงการดีๆ เช่นนี้ขึ้นมา ตนจะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้ประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อนักศึกษาและบุคลากรผู้รับคำปรึกษา