กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นอกจากเข้าร่วมการประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากรทะเล หรือ Our Ocean Conference ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 5 – 6 ตุลาคมนี้ ณ สาธารณรัฐมอลตา และกล่าวถ้อยแถลงถึงท่าทีประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้แล้ว ยังได้หารือร่วมกับ นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการสิ่งแวดล้อมกิจการทะเลและประมง คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งแสดงความชื่นชมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูของไทย และเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจริงจังกับการแก้ไขปัญหาไอยูยู ทั้งแนวนโยบายให้มีการจัดการทรัพยากรทุกอย่างพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งประมง ป่าไม้และเกษตรกรรม รวมถึงการพัฒนาระบบการทำงานด้านเทคนิคต่าง ๆ เพื่อทำให้ระบบการประมงของไทยมีประสิทธิภาพ เช่น การนำคณะเจ้าหน้าที่ประมงจากประเทศไทยเดินทางไปศึกษาดูงานศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมงที่สเปน และส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งจากการเยี่ยมชมศูนย์เห็นว่าระบบของไทยและสเปนนั้นคล้ายคลึงกัน แต่สเปนมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากมีประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า ซึ่งไทยจะนำความรู้ดังกล่าวไปพัฒนาระบบของไทยต่อไป นอกจากนั้น ยังแจ้งว่าปัญหาประมงไอยูยูเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับนานาชาติ ไทยจึงเสนอให้อาเซียนมีการจัดทำนโยบายประมงร่วมกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีอาเซียนในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ครั้งที่ 39 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อร่างนโยบายดังกล่าวในต้นปี2561 ซึ่งทางอียูก็พร้อมสนับสนุนให้ข้อมูลไทยในการจัดทำกรอบแนวทางนโยบายประมงอาเซียนซึ่งอียูได้ดำเนินการมาแล้วด้วย
นอกจากนี้ ยังได้หารือร่วมกับ นายบ๊อบ มิลเล่อร์ ผู้จัดการบริหารบริษัทอาหารซี.พี.ที่อังกฤษ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมหลักในการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติด้านการบริหารจัดการสินค้าประมง (Seafood Task Force) และนายนิโคลัส ไวซ์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำกลุ่มธุรกิจเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติด้านความยั่งยืนของทรัพยากรประมง หรือ (OceanMind) ซึ่งทั้งสององค์กรเป็นกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าประมงรายใหญ่ของโลกที่มีการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย ซึ่งปัจจุบัน Seafood Task Force และ OceanMind มีความร่วมมือทำงานกันอย่างใกล้ชิดกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และยังเห็นถึงความก้าวหน้าและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาประมงของไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการให้ห่วงโซ่อุปทานหรือสายการผลิตสินค้าประมงของไทยไปสู่ความยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากร การแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยู และปัญหาแรงงานในภาคการประมง ซึ่งนอกจากไทยได้เน้นย้ำถึงแนวทางการจัดการประมงยั่งยืนในไทย และยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือทำงานกับ Seafood Task Force และ OceanMind แล้วทั้งสององค์กรเครือข่ายก็พร้อมยินดีให้การสนับสนุนไทย โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์การทำประมงของเรือประมงไทยขนาดต่าง ๆ เพื่อวางแผนในการควบคุมการทำประมงให้ไปสู่แนวทางการทำประมงยั่งยืน รวมถึงการสนับสนุนระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงที่ส่งออกไปต่างประเทศให้มีความชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้นด้วย