กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--คอร์น ครีเอทีฟ เอเจนซี่
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2560 พร้อมผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2559 และการคาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2560 ชี้ยอดการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์เติบโตต่อเนื่อง หนุนไทยเป็นผู้นำอีคอมเมิร์ซของอาเซียน
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า "นโยบาย Thailand 4.0 เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกให้กับประเทศไทย โดยแนวคิดนี้ได้บรรจุอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) รวมถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งล้วนเป็นยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาที่สำคัญของไทย เพื่อปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ "ประเทศไทย 4.0" หรือ "Thailand 4.0" ที่จะพลิกโฉมหน้าของประเทศไทย
รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานปรับเปลี่ยนให้ทันโลก เพราะดิจิทัลมีบทบาทกับคนทุกเพศทุกวัย โดยพยายามผลักดันและจัดให้มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวเร่งการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ครั้งที่ 4 ของโลก โดยจะเร่งพัฒนาทั้งการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้คนทั้งประเทศ การสร้างนวัตกรรมดิจิทัล ปรับฐานเศรษฐกิจของประเทศ และการเชื่อมโยงประเทศไทยสู่โลก เพื่อพลิกประเทศไทยในทุกมิติ โดยมีคนเป็นปัจจัยสำคัญ บวกกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อการก้าวเป็นผู้นำในยุค Digital Transformation
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาความพยายามของรัฐบาลที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ให้ความครอบคลุมทุกภาคส่วน เห็นได้จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต่าง ๆ เช่น โครงการเน็ตประชารัฐที่จะติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครบ 74,965 หมู่บ้านทั่วประเทศในปี 2561 ซึ่งจะเอื้อให้การทำอีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างรวดเร็วในแต่ละชุมชน เกิดโอกาสในการขายสินค้าของชุมชนไปทั่วประเทศและทั่วโลกได้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคมระหว่างพื้นที่เมืองกับชนบท
"การสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและมูลค่าอีคอมเมิร์ซที่จัดทำขึ้นโดยเอ็ตด้าจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องอาศัยข้อมูลสถิติจากผลสำรวจไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย การบริหารจัดการกลยุทธ์ การวางแผน และการดำเนินธุรกิจทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน" ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
สำหรับผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปี 2560 นี้ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการเอ็ตด้า ได้กล่าวว่า เอ็ตด้าได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจจากประชาชนรวม 25,101 คน ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560 ไม่เพียงแต่จะเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน แต่ยังศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ ทั้งยังให้ระบุถึงปัญหาที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพบมาก ปัจจัยที่ทำให้ปฏิเสธอีคอมเมิร์ซ ปัญหาของผู้ที่เคยซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ได้รับ และวิธีการแก้ปัญหาของผู้ซื้อ ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการปรับปรุงแก้ไขปัญหา และสามารถช่วยเหลือให้แก่ผู้ซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผลสำรวจมีดังนี้ Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงสุด โดยในช่วงวันทำงานหรือวันเรียนหนังสือใช้เฉลี่ยที่ 7.12 ชั่วโมง/วัน และมากถึง 7.36 ชั่วโมง/วันในช่วงวันหยุด ขณะที่ Gen X และ Gen Z ใช้อินเทอร์เน็ตในวันทำงานและวันเรียนหนังสือ โดยเฉลี่ยเท่ากันที่ 5.48 ชั่วโมง/วัน แต่ในวันหยุด Gen Z กลับใช้เพิ่มขึ้นเป็น 7.12 ชั่วโมง/วัน สวนทางกับ Gen X ที่ใช้ลดลงที่ 5.18 ชั่วโมง/วัน โดยกลุ่ม Baby Boomer ใช้ 4.54 ชั่วโมง/วันในวันทำงาน และ 4.12 ชั่วโมง/วันในวันหยุด
นอกจากนี้ ยังพบว่า 61.1% จากผู้ตอบใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ย 3.06 ชั่วโมง/วัน 30.8% มีปริมาณการใช้เท่าเดิม และมีเพียง 8.1% ที่ใช้ลดลง เฉลี่ยที่ 2.24 ชั่วโมง/วัน ส่วนสถานที่ที่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดยังคงเป็นที่บ้าน คิดเป็น 85.6% รองลงมาคือที่ทำงาน 52.4% ตามมาด้วยการใช้ระหว่างเดินทาง 24% เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปีก่อน ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตที่สถานศึกษาลดลงจาก 19.7% เป็น 17.5% ในปีนี้ ส่วนกิจกรรมที่นิยมทำเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดีย (86.9%) การค้นหาข้อมูล (86.5%) การรับส่งอีเมล (70.5%) การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ (60.7%) และการซื้อสินค้าออนไลน์ (50.8%)
สุรางคณา ชี้ว่า "เป็นเรื่องที่สังเกตว่ากิจกรรมที่คนนิยมทำบนอินเทอร์เน็ตในการสำรวจปีนี้ แตกต่างจากปีก่อน ๆ ตรงที่การซื้อสินค้าออนไลน์ขึ้นมาติด 1 ใน 5 กิจกรรมยอดฮิตเป็นครั้งแรก นั่นแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในการทำอีคอมเมิร์ซมากขึ้นในสังคมไทย"