กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
นักวิจัยเอแบค-เคเอสซีอินเตอร์เนตโพลล์ หรือเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา จาก 780 ตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 80 ประสบปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการขาดวัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร และงบประมาณในการดำเนินการ การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเสียสิทธิกรณีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งยังไม่เพียงพอ กรรมการเจ้าหน้าที่ไม่ทราบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดระเบียบ วิธีปฏิบัติ กระชั้นชิดวันเลือกตั้งมากเกินไป ทำให้ระยะเวลาในการเตรียมการเลือกตั้งไม่เพียงพอ กลุ่มตัวอย่างยังได้ระบุถึงแนวทางแก้ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อๆ โดยเห็นควรมีการจัดเตรียมงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ บุคลากรให้พร้อมก่อนการเลือกตั้ง เพิ่มระยะเวลาการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้มากขึ้น และครอบคลุมสื่อทุกประเภท นอกจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งควรกำหนดระเบียบ วิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้งให้มากกว่านี้ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเพิ่มวันเลือกตั้งให้มากกว่า 1 วัน พร้อมประกาศเป็นวันหยุดราชการติดต่อกัน ส่วนการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.4 ระบุ ไม่พบเห็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และร้อยละ 21.3 ไม่แสดงความคิดเห็น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าพบเห็นในเขตรับผิดชอบได้แก่ การจ่ายเงินซื้อเสียง จัดเลี้ยง ติดป้ายประกาศแนะนำตัวผู้สมัครเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด ใช้อิทธิพล อำนาจข่มขู่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง มีการโฆษณาตามป้ายแนะนำตัว สัญญากับประชาชน เกณฑ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งขึ้นรถฟรีมาลงคะแนน สำหรับระดับความพึงพอใจต่อการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยภาพรวมแล้ว พบว่า ร้อยละ 36.7 รู้สึกพอใจ รู้สึกเฉยๆร้อยละ 31.0 และร้อยละ 11.4 ไม่พอใจ ที่เหลือร้อยละ 20.9 ไม่แสดงความคิดเห็น ส่วนคำถามที่ว่ามีความมั่นใจหรือไม่ว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จะสามารถทำให้การปฏิรูปการเมืองไทยสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั้น มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 7.9 เท่านั้นที่มั่นใจ--จบ--