กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
เดือนตุลาคมของทุกปีถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์กระตุ้นเตือนภัยมะเร็งเต้านม หลายองค์กรจึงจัดกิจกรรมเพื่อให้หญิงไทยทุกวัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคมะเร็งเต้านมและการตรวจคัดกรองกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่ของ 5 องค์กรต้านมะเร็ง ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ชมรมรู้เท่าทันมัจจุราชสีชมพูมะเร็ง เต้านม และ เครือข่ายมะเร็งเต้านมเขตภาคเหนือตอนบน ที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวิ่งการกุศล "Fight Breast Cancer The Obstacle Run 2017" ยกสี่ด่านผจญภัยสุดมันส์มาให้ได้ประลองความแกร่ง ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)
ผศ.พญ.สมใจ แดงประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตัวแทนคณะผู้จัดจาก 5 องค์กรต้านมะเร็ง ได้กล่าวถึงวัตุประสงค์ในการจัดงานนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์กระตุ้นเตือนให้หญิงไทยใส่ใจสุขภาพเต้านมและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม และนำรายได้ทั้งหมดที่ได้จากการสมัครเข้าร่วมการวิ่งโดยไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้กับ 5 องค์กรต้านมะเร็ง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้และสนับสนุนกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมของชมรม
กิจกรรมภายในงาน "Fight Breast Cancer The Obstacle Run" วิ่งแกร่งกล้าท้าอุปสรรค สู้มะเร็งเต้านม ได้มีการยกสี่ด่านผจญภัยสุดมันส์ซึ่งเป็นตัวแทนของแผนการคิดและต่อสู้ภัยจากมะเร็งเต้านม ที่อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ต่อไป อาทิ ด่านการตั้งสติ ด่านการวางแผน ด่านการดูแล และด่านการใช้ชีวิต ทำให้ทุกคนได้สนุกสนานไปกับการประลองความแกร่งตลอดระยะ 5 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ "รู้เท่าทัน ต้านภัยมะเร็งเต้านม" พร้อมทั้งกิจกรรมที่น่าใจจากบูธขององค์กรต้านมะเร็งต่างๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมต่อผู้ร่วมงานอีกด้วย"
ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีแนวโน้มของการพบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่โสดหรือแต่งงานมีลูกหลังอายุ 35 ปี จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่แต่งงานมีลูกเร็ว ประกอบกับพฤติกรรมการกินอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายน้อย ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น
ด้าน นพ. ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า โรคมะเร็ง เต้านม นับเป็นอีกโรคหนึ่งที่หากผู้ป่วยสังเกตถึงความผิดปกติของตนเองได้รวดเร็ว ก็จะทำให้ผลการรักษาเป็นไปได้อย่างดีมากยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยระยะเริ่มต้นมีโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยละ 80 ของ ในขณะที่ผู้ป่วยระยะลุกลามมักจะมีโอกาสการหายขาดที่ลดน้อยลง ซึ่งมีจำนวนหญิงไทยจำนวนถึงร้อยละ 20 ที่เข้าพบแพทย์เมื่อมีอาการในระยะที่ลุกลามแล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงเป็นวิธีการเบื้องต้นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจตรวจแมมโมแกรมที่ควรตรวจเป็นประจำทุกปี เมื่อมีอายุ 50 ปี ขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือการเช็คเต้านมด้วยตนเอง ใน 3 รูปแบบ ดังนี้
แบบแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำสลับขึ้นลงและไปมาให้อย่างทั่วทั้งเต้านม
แบบก้นหอยหรือแบบตามเข็มนาฬิกา คลำจากบริเวณหัวนมวนออกตามเข็มนาฬิกา จนถึงบริเวณรักแร้ ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้บีบหัวนมดูว่ามีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมาหรือไม่
แบบรัศมีรอบเต้า เริ่มจากส่วนบนเต้านมเข้าหาฐานและขยับนิ้วหัวแม่มือจากฐานถึงหัวนมทำซ้ำเป็นรัศมีรอบเต้านม
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ก็สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ ดีขึ้นได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ระยะของโรคและชนิดของมะเร็งเต้านม ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การรักษาด้วยยา ทั้งยาต้านฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด เป็นต้น
"งานในครั้งนี้ถือว่าได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,214 คน ทั้งยังสามารถระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้ และสนับสนุนกิจกรรมของชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้จำนวนมากถึง 701,601 บาท ซึ่งเราเชื่อว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่เหล่าผู้ป่วยในการต่อสู้กับภัยมะเร็งเต้านม และประชาชนคนทั่วไปที่จะได้รับความรู้ดีๆ เพื่อการป้องกันโรคมะเร็งเต้านมอันเป็นเรื่องใกล้ตัวของหญิงไทยเป็นอย่างมาก" ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าวทิ้งท้าย