การรณรงค์ให้มีการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.เพิ่มของกรมการประกันภัยประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

ข่าวทั่วไป Tuesday December 25, 2001 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--กรมการประกันภัย
ตามที่ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีเจตนารมย์ที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถทุกคนให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที โดยการสร้างหลักประกันให้แก่สถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ว่าจะได้รับการชดใช้คืนค่ารักษาพยาบาล ในการรับรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถอย่างแน่นอน นั้น
ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ได้มอบนโยบายให้กรมการประกันภัย ดำเนินการตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2544 ดังนี้
1. ปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยตาม พ.ร.บ. ให้ลดลงตามหลักต้นทุนที่แท้จริงโดยไม่มีกำไร (No Gain No Loss) ซึ่งสอดคล้องกับอัตราความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งถ้าอัตราเบี้ยประกันภัยถูกลดลงจะช่วยให้เจ้าของรถทำประกันภัยมากขึ้น
2. จัดทำโครงการรณรงค์ให้มีการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. มากขึ้น (โครงการประกันภัย พ.ร.บ. 100%) อาทิ จัดตั้งด่านตรวจจับรถที่ไม่ทำประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.
1. การปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยตาม พ.ร.บ. ให้ลดลง ในปี 2544 กรมการประกันภัยได้ดำเนินการปรับลดอัตราเบี้ยประกันภัยตาม พ.ร.บ. มาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกกรมการประกันภัยได้ประกาศลดอัตราเบี้ยประกันภัยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 ลดอัตราเบี้ยประกันภัยรถเก๋งส่วนบุคคล จาก 1,080 บาท เป็น 970 บาท และรถบรรทุกส่วนบุคคล (ปิกอัพ) จาก 1,350 บาท เป็น 1,210 บาท และในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 กรมการประกันภัยได้ประกาศลดอัตราเบี้ยประกันภัยเป็นครั้งที่ 2 โดยลดอัตราเบี้ยประกันภัยทั้งระบบลง เช่น ลดอัตราเบี้ยประกันภัยรถเก๋งจาก 970 บาท เป็น 920 บาท และรถบรรทุกส่วนบุคคล (ปิกอัพ) จาก 1,210 บาท เป็น 1,150 บาท เป็นต้น
2. การจัดทำโครงการรณรงค์ให้มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.มากขึ้น (ประกันภัยพ.ร.บ.100 %) โดยกรมการประกันภัย ประสานงานกับผู้บริหารระดับสูง ของ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อดำเนินการรณรงค์ให้รถทุกคันเข้าระบบประกันภัย 100 % ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ในการดำเนินงาน ได้จัดทำโครงการนำร่องขึ้นในหลายจังหวัด เช่น สมุทรสาคร ราชบุรี เพชรบุรี สุราษฏร์ธานี เป็นต้น โดยโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการในวันที่ 28 พฤษภาคม 2544
ขณะนี้ได้รับทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวประสบผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยและจำนวนเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น ในระยะก่อนเดือน มิถุนายน ซึ่งยังไม่ดำเนินโครงการรณรงค์ อัตราการเจริญเติบโตของกรมธรรม์ประกันภัย และจำนวนเบี้ยประกันภัยตาม พ.ร.บ. เมื่อเทียบกับปีก่อน จะเติบโตติดลบ เช่นในเดือน พฤษภาคม 2544 จำนวนเบี้ยประกันภัยลดลงจากปี 2543 ร้อยละ 11.20% แต่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2544 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการโครงการดังกล่าว เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ทั้งจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยและจำนวนเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาตลอด ณ. 30 พฤศจิกายน 2544 มีผู้ทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. รวมประมาณ 8.4 ล้านกรมธรรม์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.57 จำนวนเบี้ยประกันภัย ประมาณ 5,543.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณร้อยละ 6.97
ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะได้มีการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.เพิ่มขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์จะได้ติดตามให้กรมการประกันภัยดำเนินการตามโครงการนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจังเพื่อรณรงค์ให้รถทุกคันทำประกันภัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประสบอุบัติเหตุทุกคน ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยอย่างเพียงพอ คนที่ถูกรถที่มีประกันภัยรถตามพ.ร.บ.ชน จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่เกิดขึ้นจริงสูงสุดจำนวน 50,000 บาท/ราย และถ้าเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะ ได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 80,000 บาท/ราย แต่ถ้าถูกรถที่ไม่มีประกันภัยชน จะได้รับความคุ้มครองเพียงค่าเสียหายเบื้องต้น คือ ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกินจำนวน 15,000 บาท และถ้าเสียชีวิตได้รับเป็นค่าปลงศพเพียงจำนวน 15,000 บาท เท่านั้น--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ