กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไมโครโฟน
เพราะ "เต้านม" เป็นหัวใจบ่งบอกความเป็นหญิง ใครก็ตามเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นโรคร้ายนี้ก็ยากที่จะรับไหว บางคนอาจจะหมดกำลังใจในการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ จากสถิติทั้งในไทยและทั่วโลก มะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ใน ของโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงที่โสดหรือแต่งงานมีลูกหลังอายุ 35 ปี เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้หญิง ใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้ ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ 5 องค์กรต้านมะเร็งได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ชมรมรู้เท่าทันมัจจุราชสีชมพูมะเร็งเต้านมและเครือข่ายมะเร็งเต้านมเขตภาคเหนือตอนบน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวิ่งการกุศลเนื่องในวันมะเร็งเต้านมโลกขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 "Fight Breast Cancer The Obstacle Run 2017" วิ่งแกร่งกล้าท้าอุปสรรค สู้มะเร็งเต้านม รายได้นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้และสนับสนุนกิจกรรมของชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต่อไป ภายในงานได้มีกิจกรรมให้ความรู้จากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อ "รู้เท่าทัน ต้านมะเร็งเต้านม" โดยได้รับเกียรติจาก 2 สาวรักสุขภาพ "ก้อย - รัชวิน วงศ์วิริยะ และ ตุ๊ก - ชนกวนันท์ รักชีพ" มาร่วมเผยเคล็ดลับการใช้ชีวิตห่างไกลจากมะเร็งเต้านมอีกด้วย
ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กว่า 90-95 % ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การแต่งงานหรือมีลูกหลังอายุ 35 ปี การมีประจำเดือนเร็วและหมดช้า การได้รับฮอร์โมนเป็นระยะเวลานานๆ รวมถึงการมีไขมันมากล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม อาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านมบางรายอาจไม่มีอาการแสดงแต่จะพบเมื่อมะเร็งลุกลามแล้ว จึงแนะให้หมั่นตรวจ คลำเต้านมไปถึงใต้รักแร้ทั้ง 2 ข้าง หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บปวดร้าว หรือ ก้อนเนื้อควรรีบพบแพทย์ หรือการตรวจเต้านมโดยแพทย์
ด้านนายแพทย์ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ากล่าวเสริมว่า ในแต่ละวันตรวจเจอมะเร็งเต้านมถึงวันละ 12,000ราย/ปี หากพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ สามารถรักษาหายได้ หลายคนอาจจะกังวลเมื่อจะต้องรักษาโดยการตัดเต้านม ทุกวันนี้มีวิธีการรักษาที่ทันสมัย เช่นการผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้อเพื่อสงวนเต้าเดิมไว้ หรือการศัลยกรรมตกแต่งให้เหมือนธรรมชาติผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวล
ด้านผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้ผ่านการต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมมาอย่างแข็งแกร่ง เล่าถึงวินาทีแรกเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นโรคร้าย "เราตายแล้ว ตั้งแต่วินาทีแรกที่รู้ว่าเป็นมะเร็งเต้านม!!! ทุกๆวันที่ลืมตาขึ้นมาถือเป็นกำไรของชีวิต" ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ได้ป่วยแค่ร่างกาย แต่ป่วยด้านจิตใจด้วยยิ่งเมื่อรู้ว่าร่างกายจะไม่มี เต้านมซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นสตรีแล้ว การอยู่ในสังคมที่ไร้เส้นผมซึ่งเป็นผลจากการรักษาจึงต้องการกำลังใจ ความเข้าใจจากคนรอบข้างและครอบครัวมากที่สุด จากที่หมอวินิจฉัยว่าตนจะสามารถอยู่ได้เพียง 1 ปี แต่ทุกวันนี้อยู่มาได้ถึง 14 ปี ผลจากการรักษาที่ต่อเนื่องการดูแลตัวเองและได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง จึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณวรินทร์พร ณิชาภัทร์นารากุล กล่าวในฐานะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและประธานชมรมมัจจุราชสีชมพู จังหวัดขอนแก่น เช่นเดียวกับ คุณอรวรรณ โอวรารินท์ ประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย เล่าว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้วพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งบังเอิญมือไปจับที่เต้านมและพบลักษณะคล้ายๆ ก้อนเนื้อจึงไปพบแพทย์และพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม หมอแนะนำให้รักษาโดยการตัดเต้านมออก "ตอนนั้นไม่มีสติแล้ว รับไม่ได้เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็งเพราะเราใช้ชีวิตแบบระมัดระวังมาก" สุดท้ายก็เชื่อหมอและทุกวันนี้หายจากโรคมะเร็งเต้านมแล้วและได้ทำงานเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพราะรู้ว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นกำลังใจสำคัญที่สุด
ด้าน 2 สาวสุขภาพดี "ก้อย-รัชวิน" เผยเคล็ดลับการดูแลสุขภาพโดยได้เริ่มหันมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจังโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พบว่าสุขภาพแข็งแรงขึ้นสามารถออกกำลังกายกลางแจ้งได้นานขึ้นและมีรูปร่างที่ดีขึ้นด้วย ฝากให้ผู้หญิงทุกคนดูแลตัวเอง หมั่นตรวจเช็กสุขภาพลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เช่นเดียวกับ คุณแม่สุดสตรอง ตุ๊ก-ชนกวนันท์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเหมือนจะห่างไกลจากตัวเราแต่จริงๆ แล้วมันอยู่ใกล้กับผู้หญิงทุกคน ตนจึงให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของการทานอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกายเป็นประจำที่สำคัญคือการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอและได้ฝากกำลังใจถึงผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและสามารถใช้ชีวิตในสังคมให้มีความสุขต่อไป