กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
TEDxChulalongkornU หนึ่งในงานทอล์คสร้างแรงบันดาลใจระดับโลก โดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด "Strive Forward : The World is Changing, Are You?" โดยได้ระดม 14 ความคิดจากสปีคเกอร์ที่มากด้วยประสบการณ์ ต่างวัย ต่างสาขา จากสายวิทยาศาสตร์ ดนตรี การศึกษา สังคม ธุรกิจ และตลาด มาถ่ายทอดเรื่องราวแรงบันดาลใจ และแนวคิดในการปรับเปลี่ยนมุมมอง พร้อมพัฒนาเพื่อพุ่งชนเป้าหมายไปด้วยกัน ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน โดยมีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 700 คน
บางช่วงบางตอนของเหล่าสปีคเกอร์ที่ชวนคนไทยเปลี่ยนมุมมอง และเติมพลังบวกด้วยไอเดียใหม่ โดยเริ่มต้นทอล์คแรกกับ ดร.วิภู รุโจปการ อาจารย์ประจำภาคฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ไทย กับหัวข้อ "Striving Through the Stars" เผยว่า "ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ไม่ได้ดูแต่ดาวเพียงอย่างเดียว งานของเราก้าวข้ามจุดที่เราจะใช้ดวงดาวมากำหนดชีวิตบนโลก แต่ใช้ศึกษา เพื่อการเข้าใจธรรมชาติของจักรวาล เมื่อ 40 ปีก่อนที่นักดาราศาสตร์พยายามที่จะจับแสงดาวที่จางที่สุดใช้ฟิล์มถ่ายไม่ได้ ผลักดันให้เราต้องใช้ชิพไวแสง ซึ่งตอนแรกมีไม่กี่พิกเซลและพัฒนามาจนเป็นพันพิกเซล ปัจจุบันเป็นล้านพิกเซล และมันก็มาอยู่ในกระเป๋าเรา คือ กล้องดิจิทัล หรือแม้แต่ไวไฟก็มาจากความพยายามของนักดาราศาสตร์ที่ใช้คลื่นวิทยุในการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ภาพดาวที่คมชัด เราจึงไม่หยุดค้นหาคำตอบจากการทำโจทย์ใหม่ๆ และโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าสิ่งที่ค้นพบในวันนี้ จะกลายเป็นอะไรในวันข้างหน้า เราเพียงรู้ว่า สิ่งเหล่านี้จะส่งผลย้อนกลับมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เกิดการพัฒนา ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมและส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น รวมถึงลูกหลานของเรา"
ต่อด้วย พ.ญ.นาฏ ฟองสมุทร AgedCare Specialist โครงการที่พักผู้สูงอายุ ในหัวข้อ "เกษียณอย่างเกษม" เผยว่า "คนเกษียณ ต้องไม่คิดว่าตัวเองไร้ค่า เป็นเมล์ป้ายสุดท้าย จริงแล้วช่วงนี้เป็นโอกาสทอง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำอะไรใหม่ๆ สิ่งท้าทายที่ไม่เคยทำมาก่อน เลิกขังตัวเองอยู่ในบ้าน ออกนอกกรอบ แค่คิดบวก ลืมความแก่ ทำกิจกรรมใหม่ๆ เพียงแค่นี้ ผู้เกษียณสุขกาย ลูกหลานสบายใจ ครอบครัวไทยอยู่อย่างแฮปปี้ และก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน"
ด้าน อภิรัตน์ หวานชะเอม ผู้นำโปรเจค Beacon Interface แอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมทางการเงิน ให้กับผู้บกพร่องทางการมองเห็น ในหัวข้อ "I See You" เผยว่า "วันนี้ โมบาย เฟิร์สตอบโจทย์ชีวิตหลายด้าน และในไม่ช้า อาจมีแค่โมบาย โอนลี่ (Mobile Only) โดยเฉพาะหน้าจอที่เป็นระบบสัมผัส ทำให้ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็น ใช้ชีวิตได้ยากลำบากขึ้น วันนี้ บีคอน อินเตอร์เฟส แอปพลิเคชันที่ทำงานด้วยการสั่งของเสียงและระบบสั่น ไม่ต้องมองหน้าจอจึงเกิดขึ้น เพื่อเติมเต็มความเป็นคน ความเท่าเทียมกัน ทำให้ชีวิตผู้บกพร่องทางการมองเห็นดีขึ้น สามารถพัฒนาสังคมได้อย่างเท่าเทียม นำไปสู่สังคมที่เห็นความสวยงามของความต่าง จากนี้ I See You จะไม่ใช่การมองเห็นด้วยสายตาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการมองด้วยความรักและความเข้าใจ"
และ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มา "จุดพลุความคิด พิชิตนวัตกรรม" เผยว่า "นวัตกรรมคือผลิตผลจากความคิดสร้างสรรค์ โดยอาศัยประสบการณ์ทั้งในเชิงบวก และเชิงลบรวมไว้ด้วยกัน จะมีคนอยู่ 3 กลุ่มที่จะทำให้นวัตกรรมนั้นสำเร็จได้ คือ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์, คนที่มีประสบการณ์ ที่จะเป็นเมนเทอร์คอยให้คำแนะนำ และคนสนับสนุน ที่จะนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปขายสู่ตลาด ดังนั้นจึงต้องมีสถานที่ที่จะรวมคนทั้ง 3 กลุ่มนี้ไว้ด้วยกัน จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง SID หรือ Siam Innovation District จะเป็นศูนย์รวมการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมของประเทศ เป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง"
จากนั้นเปลี่ยนบรรยากาศมาฟังดนตรีไทยกันบ้าง จาก พรทวี หอมเสมอ แชมป์ขิมคุณพระช่วย 4 สมัย และรางวัลพระราชทานศรทอง จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร.9 กับหัวข้อ "หัวใจที่ให้โอกาส" เผยว่า "รักษาของดีอย่างดนตรีไทย ก็คือ การฟังดนตรีไทยด้วยหัวใจที่ให้โอกาส ให้ดนตรีไทยมีพื้นที่ในสังคม เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถรักในแบบคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจมีการปรับแต่งให้ร่วมสมัย เล่นได้อย่างมีความสุข เลิกตีกรอบว่าจะต้องเล่นดนตรีรูปแบบดั้งเดิม และอยากให้สื่อทุกประเภท มีโอกาสสัมผัส หรือทำความรู้จักดนตรีไทยในอีกแง่มุม เพื่อสื่อภาพลักษณ์ การเป็นศิลปะที่บ่งบอกความเป็นชาติ ทรงคุณค่า มีท่วงทำนองสละสลวย แทนการสื่อว่าเป็นเรื่องเชย หรือเป็นแค่ความบันเทิงของคนรุ่นเก่า รุ่นคุณปู่ คุณย่าค่ะ"
ต่อด้วย 2 เชฟหนุ่ม ภานุภน บุลสุวรรณ และ วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ ที่มากประสบการณ์ระดับโลก เคยทำงานในห้องอาหาร และโรงแรมชื่อดัง ในหัวข้อ "เส้นทางของนักปรุง" เผยว่า "สำหรับพวกเราเรื่องกินเรื่องใหญ่ แต่จะกินอย่างไรให้ดีต่อเราและดีต่อโลก เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ก็คือ ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทิ้งให้น้อยที่สุด ธรรมชาติสร้างสิ่งที่ดีที่สุดไว้แล้ว เหลือแค่เราซึ่งเป็นผู้ปรุง การปรุงอาหารสำหรับเรานั้นเป็นแค่ผู้ส่งสาร หรือผู้นำสิ่งดีๆ จากธรรมชาติมาประกอบเข้าด้วยกัน"
ส่วน 2 สาวน้อยนักประดิษฐ์ ด.ญ.กุลณัฏฐ์ โตวิกกัย และ ด.ญ.จ้าวไหม ตั้งศิริพัฒน์ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนสาธิต จุฬาฯ ที่คว้ารางวัลเหรียญทองด้านนวัตกรรมจาก 2 เวทีระดับนานาชาติ กับหัวข้อ "Innovation is All Around" เผยว่า การต่อยอดนวัตกรรมไม่ยาก เราต้องเริ่มจากตัวเราเอง มองให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น เราต้องไม่ทำให้การมองเป็นการเห็นแล้วผ่านไป แต่เราต้องตั้งคำถามกับทุกอย่าง คิดกับทุกอย่าง แล้วเราก็จะรู้ว่า สิ่งที่เราคิดว่ามันดีอยู่แล้ว อาจจะมีปัญหาบางอย่างแฝงอยู่ข้างใน เพียงแค่เราเริ่มทำจากสิ่งรอบๆ ตัว เอามาต่อยอด เอามารวมกัน เอามาทำให้ดีกว่าเดิม นวัตกรรมยังสามารถต่อยอดได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดและยังเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา จินตนาการไม่มีที่สิ้นสุด นวัตกรรมเองก็ไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้หยุดแค่ที่ความคิด แต่เราลงมือทำ"
จากนั้น สมโภชน์ อาหุนัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่มาทอล์คในหัวข้อ "สมการแห่งอนาคต" เผยว่า "ผมมั่นใจว่า เทคโนโลยีในประเทศไทยเราไปไกลได้มากกว่าที่คิด เราต้องมั่นใจในคนไทยด้วยกัน เราต้องส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา โดยใช้ประเทศเป็นห้องแลบ ห้องแสดงสินค้าให้ประเทศอื่นมั่นใจ มุมมองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มุมมองเป็นตัวกำหนดชีวิตของเรา ถ้าเราไม่มองวิกฤตให้เป็นโอกาส ไม่มองอุปสรรคให้เป็นความท้าทาย เราจะพัฒนาประเทศของเราได้อย่างไร ลองกลับมามองสิ่งที่เราทำ แล้วลองเปลี่ยนแปลง มุมมองใหม่ เราอาจพบว่า ยังมีโอกาสอยู่ตรงหน้า ซึ่งอาจจะนำมาเปลี่ยนสมการประเทศไทยของเราให้เป็นสมการแห่งอนาคตได้ครับ"
ต่อด้วย มีนา อิงค์ธเนศ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับคำถามว่า "A Lonely Guide for a Workaholic?" เผยว่า "เราต้องเปลี่ยนมุมมองรู้เวลาไหนทำงานและเวลาส่วนตัว ความสำเร็จเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่จำเป็นต้องอยู่ลำพัง แต่ความสำเร็จที่มีคนที่รักเราและคนที่เรารักอยู่เคียงข้างนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ"
ในขณะที่ทางด้านการศึกษา ธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง Learn Education นวัตกรรมเพื่อการศึกษา ห้องเรียนรูปแบบใหม่ในโลกยุคดิจิทัล ที่มาเผยถึง "การศึกษา 50 : 50" ว่า "การศึกษาที่ดีจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นจากเด็กที่ไม่มีความสามารถ ให้สามารถดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว และทำประโยชน์เพื่อสังคม จึงขอนำเสนอรูปแบบโครงสร้าง 50 : 50 ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก โรงเรียน 50 : ครอบครัว 50 เพราะในยุคนี้การจะสร้างคนเก่งได้นั้นไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนอย่างเดียว 100% แต่ยังต้องอาศัยครอบครัวที่คอยให้การสนับสนุน ต่อมา ทักษะ 50 : ความรู้ 50 ในยุคการศึกษาศตวรรษที่ 21 ครูจะต้องพูดน้อยลง โดยให้ครูจากผู้ที่เคยบอก เปลี่ยนมาเป็นคนที่คอยกระตุ้นให้เด็กได้คิดและอยากเรียนรู้มากขึ้น และสุดท้าย เทคโนโลยี 50 : ครู 50 ในส่วนนี้ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับสื่อการเรียนการสอนของครู โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ ทำให้เห็นถึงจุดแข็งของเด็กที่ควรต่อยอด หรือจุดอ่อนที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อไป ครูไม่สามารถเป็นฮีโร่คนเดียวได้ หากขาดแรงสนับสนุนต่างๆ ทั้งจากครอบครัว หรือเทคโนโลยี ฉะนั้นโครงสร้างการทางศึกษารูปแบบ 50: 50 จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่จะช่วยเพิ่มทางรอดของการศึกษาไทย เพื่อให้เด็กไทยและประเทศไทยสามารถ Strive Forward ไปด้วยกัน"
ต่อกันที่ กันต์ กันตถาวร พิธีกรและนักแสดง ที่ชวนทุกคนถอดหน้ากากกับหัวข้อ "The Mask Unfold" เผยว่า "ผมเชื่อว่าทุกคนมีหน้ากากที่ตัวเองเลือกใส่ และหน้ากากที่คนอื่นใส่ให้ แต่อย่าให้ใครมาบอกว่าเราทำอะไรได้ หรือไม่ได้ ถอดหน้ากากนั้นทิ้งซะ แล้วชีวิตคุณจะมีความสุข ถ้าคุณอยากให้คนอื่นยอมรับในตัวคุณ คุณต้องยอมรับในตัวคุณเองก่อน ถ้าคุณจะมีความสุขได้ คนรอบตัวต้องมีความสุขด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทุกคนครับ...ถอดหน้ากากครับ"
ปิดท้ายด้วย วิภาวี คุณาวิชยานนท์ นักออกแบบ และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์ไม่แสวงผลกำไร Design for Disasters (D4D) กับหัวข้อ "มั่วแบบไทย สู้ภัยพิบัติ" เผยว่า "เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมอง ประยุกต์การใช้งานของสิ่งที่มีอยู่รอบตัว ก็ช่วยให้เรารับมือกับภัยพิบัติได้ เช่น เวลาเกิดน้ำท่วม กะละมังพลาสติกที่มีอยู่ในบ้านนำมาผูกรวมกัน ใช้ราวตากผ้าเป็นฐานและคลุมด้วยแหให้ยึดติดกัน ใช้แทนเรือและนำตะหลิวมาเป็นไม้พาย, โต๊ะเขียนหนังสือ แค่หงายโต๊ะ เปลี่ยนการใช้งานแทนเรือ ติดหางเสือเพิ่ม หรือขวดพลาสติกใส่น้ำ ที่มีทิ้งไว้ในบ้าน นำมารวมกันใส่แห ผูกด้วยเชือกฟางใช้แทนทุ่นลอยน้ำ และเชื่อว่าก้าวต่อไปสำหรับการรับมือภัยพิบัติ เพียงคุณเปลี่ยนมุมมอง นำของธรรมดาในบ้านมาดัดแปลงใช้ประโยชน์ และร่วมมือร่วมใจกันก็จะช่วยให้เราผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้ค่ะ"
นี่คือบางส่วนบางตอนจากงาน TEDxChulalongkornU สามารถชมคลิปวิดีโอฉบับเต็มย้อนหลังได้ทาง Youtube พิมพ์คำว่า TEDxChulalongkornU ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป