กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--เอ็ม เอส แอล
"การให้โอกาส และการได้รับโอกาส ถือเป็นหัวใจสำคัญ" คำพูดหนึ่งของผู้บริหารมูลนิธิฯ ที่เขายึดมั่นและยึดถือเสมอมา ตั้งแต่ในสมัยวัยเด็ก และเป็นคำพูดที่จุดประกายความคิดให้เกิดการก่อตั้ง มูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เมื่อปี 2557 ทว่าการดำเนินงานของคณะทำงานแท้จริงแล้วได้มีการริเริ่มดำเนินการมามาตั้งแต่ 2551 โดยมุ่งเน้นการแสวงหาโอกาสและมอบโอกาส ให้กับกลุ่มที่ต้องการโอกาสเหล่านั้น
คุณเอกภพ เดชเกรียงไกรสร รองประธานมูลนิธิ ณภาฯ ฉายภาพย้อนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ให้ฟังว่า "ณภาฯ เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 ซึ่งจริงๆแล้ว เราได้เริ่มทำงานกันมาก่อนหน้านั้น คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 การทำงานของคณะทำงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะโครงการขนาดย่อยเรื่อยมา ไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ต่อมาจึงมีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิฯ อย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อปี 2557 แรกเริ่มเดิมทีเราช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยเน้นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบทางกฎหมายเป็นหลัก สอนวิชาชีพให้แก่พวกเขา ส่งเสริมทักษะในการผลิตสินค้าและจัดจำหน่าย โดยเรามุ่งหวังให้ผู้ต้องขังสามารถสร้างอาชีพและพึ่งพาตัวเองได้ภายหลังพ้นโทษ แต่ต่อมาเราพบว่าผู้พ้นโทษจำนวนไม่น้อย มีโอกาสในการกระทำความผิดซ้ำเพราะพวกเขาไม่ได้รับโอกาสและการยอมรับจากสังคมภายนอก ทางมูลนิธิฯ ในช่วงนั้นเอง เราจึงได้มีการริเริ่มวางแนวทางในการช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองให้กลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข โดยรับพวกเขาเหล่านั้นให้มาอยู่ทางมูลนิธิ"
"คีย์เวิร์ดสำคัญของมูลนิธิ คงต้องเริ่มต้นว่าผมก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่จากพระองค์ท่าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์ท่านสอนให้ผมได้เรียนรู้การให้ ซึ่งต้องเป็นการให้อย่างยั่งยืน นั่นหมายถึงการให้ที่ผู้รับได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รับแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง รับแล้วต้องเกิดการต่อยอดและพัฒนาได้ด้วยตนเอง ผมจึงอยากสานต่อพระปณิธานของพระองค์ท่าน ส่งต่อโอกาสและความช่วยเหลือมอบให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม"
"หากพูดถึงแต่ละโครงการต้องบอกว่า เราได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี อาทิ การดำเนินงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ในเครือข่ายของ ณภาฯ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากประชาชน และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของเรา ที่เน้นย้ำเสมอมา โดยเราต้องให้โอกาสตั้งแต่แรกเริ่ม ตั้งแต่การพ้นโทษ เพื่อให้เค้าได้รับการกล่อมเกลาจิตใจ ปัจจัยพื้นฐาน เพื่อให้มีความพร้อมที่สุด และให้เกิดช่องว่างน้อยที่สุดในการจะกลับไปทำผิดซ้ำ"
"อีกหนึ่งโครงการ ได้แก่ BBG (Bounce Be Good) โดยเมื่อเด็กออกจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เด็กบางคนพ่อแม่ก็อยู่ในเรือนจำ บางคนไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ "กีฬา" จึงเป็นอีกหนึ่งทางออกซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงเล็งเห็นถึงคุณค่าความสำคัญและทรงมอบโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวนี้ เราผลักดันให้พวกเขาได้มีโอกาสในการฝึกเป็นนักกีฬาอาชีพ โดยกีฬาชนิดแรกที่ได้หยิบยกขึ้นมานั้นคือ กีฬาปิงปอง เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มาก สามารถฝึกซ้อมได้โดยง่าย และช่วยให้เกิดสมาธิได้เป็นอย่างดี รวมถึงช่วยเสริมทักษะในเรื่องของการตัดสินใจและการปฎิบัติตัวในภาวะคับขัน ทั้งนี้โครงการได้จัดการดูแลให้อยู่แบบนักกีฬามืออาชีพอย่างจริงจัง มีพี่เลี้ยง โค้ชกีฬา นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอน และให้ทุนการศึกษาในการศึกษาต่อ จนจบปริญญาตรี โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องกลับมาให้โอกาสกับบุคคลรุ่นหลังที่ต้องการโอกาสเช่นเดียวกับตน" คุณเอกภพ กล่าวปิดท้าย
สำหรับมูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ยังคงมีเจตนารมณ์เดินหน้าในการเป็นตัวกลางแสวงหาโอกาส ให้กับผู้ด้อยโอกาสที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง ทั้งนี้ ณภาฯ ยังมุ่งหวังให้ปลายน้ำจะก่อให้เกิดการมีอาชีพที่ยั่งยืน และมีอาชีพที่สุจริตสามารถพึ่งพาตนเอง เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ต่อไปในอนาคต ตามความตั้งใจในการก่อตั้งมูลนิธิ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ทางwww.nabha.or.th