กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ตลอดระยะเวลา 70 ปี บนแผ่นดินไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านที่ทรงสร้างคุณูปการให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างมากมายมหาศาล ด้วยพระราชกรณียชกิจที่ทรงปฏิบัติมาตลอดในฐานะ "พ่อหลวงของคนไทย" เกิดเป็นโครงการในพระราชดำริ 4,000กว่าโครงการ นอกจากนี้ประชาชนชาวไทยยังได้ประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพหลากหลายด้าน ทั้งด้านดนตรี จิตรกรรม การถ่ายภาพ การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร กีฬา และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต เป็นแนวทางทั้งในด้านหลักคิด การฝึกฝนปฏิบัติ รวมถึงความมุ่งมั่นพากเพียรแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า
เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม จึงขอน้อมนำเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวไทย ผู้ทรงเป็นดั่งต้นแบบในการใช้ชีวิต และศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งชาติ โดยได้รวบรวมเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเป็นแบบอย่างให้กับปวงชนชาวไทยในสายอาชีพต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้และให้ข้อคิดในการใช้ชีวิต ดังนี้
กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ : เกษตรกร - "เมืองไทยนี้ต้องพึ่งเกษตรกรเป็นสำคัญ เพราะว่าเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและต้องยึดอาชีพนี้มาและไม่ใช่เพราะเหตุนั่นเท่านั้นเอง แต่ว่าประเทศหนึ่งประเทศใดจะอยู่ได้ก็เพราะว่ามีกสิกรรม การประกอบอาชีพ ในด้านผลิตผลที่ได้จากธรรมชาติ ทั้งในด้านที่จะเป็นการปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ปลูกผลไม้ หรือทำมาหากินในด้านปศุสัตว์หรือประมง"
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก แต่จากการเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ทำให้พระองค์ทรงพบว่า การทำการเกษตรในไทยนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพราะการขาดความรู้ความเข้าใจในการทำการเกษตร ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวย หรือสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงก็ตาม เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นปัญหาต่างๆ พระองค์จึงทรงศึกษาเรื่องการเกษตรอย่างจริงจัง สำรวจพื้นที่ชนบทต่างๆ รวมทั้งมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการขึ้นมากมาย เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพระราชดำริเรื่อง "เกษตรทฤษฎีใหม่" แนวทางที่ช่วยให้เกษตรกรบริหารที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด โครงการ "ฝนหลวง" ที่ช่วยเหลือในเรื่องของการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนการทำเกษตรกรรม หรือ "โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา" ที่อยู่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น โดยทรงใช้เป็นที่ค้นคว้า วิจัย และทดลองทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่พระองค์จะทรงเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำการเกษตรด้วยพระองค์เองได้ครบทุกด้าน
พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อเกษตรกร ไม่ได้มีเพียงด้านกสิกรรมเท่านั้น หากแต่ยังพระราชทานโครงการและแนวพระราชดำริต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปศุสัตว์ เช่น โครงการธนาคารโคนม และด้านการประมง เช่น การพระราชทานพันธุ์ปลานิล เป็นต้น ดังพระราชดำรัสข้างต้นที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับทั้งสามสิ่ง ซึ่งพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงช่วยเหลือเกษตรกรนั้นมีอยู่ล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้
กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ : นักประดิษฐ์ - อย่างที่ทราบกันดีว่าพระอัจฉริยภาพหลายด้านของพระองค์นั้นมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ รวมถึงพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์ก็เช่นกัน นอกเหนือจากพระปรีชาสามารถด้านการคิดและริเริ่มในแบบที่นักประดิษฐ์ทั่วไปควรมี พระปรีชาสามารถอีกอย่างหนึ่งของพระองค์คือการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์หรืองานช่างที่ทรงศึกษามาปรับใช้กับสิ่งที่มีในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี วัตถุดิบ หรือแม้กระทั่งแรงงานการผลิตมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากพระปรีชาของพระองค์ท่านที่คนไทยและคนทั่วโลกรู้จักกันดีก็คือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำเสีย นอกจากนี้พระปรีชาในด้านประดิษฐ์ของพระองค์ท่านที่เป็นที่ประจักษ์ก็คือการประดิษฐ์เรือใบสากล โดยเรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกพระราชทานนามว่า ราชประแตน
สิ่งประดิษฐ์ทั้งสองอย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหลายสิ่งประดิษฐ์ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งพระราชหฤทัยทำในสิ่งที่พระองค์ชื่นชอบ ไม่ใช่เพียงแค่ทำเพื่อให้รู้สึกว่าได้ทำ แต่ทรงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าพระองค์มีความเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้นยังทรงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาปรับใช้กับการดูแลพสกนิกรและการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดีด้วย
กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: นักวิทยาศาสตร์ – จุดเริ่มต้นความสนพระราชหฤทัยในด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉายแววพระอัจฉริยภาพตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่ถึงจะมีความสนพระราชหฤทัยเพียงไร ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในฐานะกษัตริย์ย่อมมาก่อน หลังขึ้นครองราชย์จึงเปลี่ยนพระราชหฤทัยด้านการศึกษาจากที่จะศึกษาต่อในด้านวิศวกรรมศาสตร์เปลี่ยนไปศึกษาด้านรัฐศาสตร์และการปกครองแทน เพื่อให้สามารถนำความรู้ดังกล่าวมาปกครองชาวไทยได้อย่างเต็มที่ แต่ถึงแม้ไม่ได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพก็ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง และนำมาปรับใช้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฏรเสมอมา ดังพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนไทยและชาวต่างประเทศอย่างมากมาย อาทิ "โครงการฝนหลวง" ที่ทรงร่วมศึกษาค้นคว้าและวิจัยจากหลักการทำฝนเทียมในต่างประเทศ แล้วมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมของประเทศไทย รวมถึง"ทฤษฎีแกล้งดิน" อีกหนึ่งพระอัจฉริยะภาพด้านวิทยาศาสตร์ ในการแก้ไขดินที่เปรี้ยวจัด ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ให้กลับกลายเป็นดินที่ใช้ทำการเกษตรได้ ตลอดจนการวิจัยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันปาล์ม หรือเชื้อเพลิงชีวภาพจากอ้อยสู่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการในพระราชดำริจำนวนมากที่พระองค์ได้นำพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปปรับใช้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง
กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: วิศวกรสำรวจ – พระปรีชาสามารถที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงนำมาใช้ในการประกอบพระราชกรณีกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ห่างไกลนั้นมีหลากหลายด้าน แต่พระอัจฉริยภาพด้านหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของงานด้านนี้ คือ พระอัจฉริยภาพด้านวิศวกรรมสำรวจซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดการ การควบคุม การใช้และการผลิตแผนที่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ดังภาพที่คนไทยทุกคนเห็นจนชินตาก็คือ ในการทรงงานของพระองค์ทุกครั้งจะมีอุปกรณ์คู่พระวรกายคือแผนที่ โดยแผนที่แผ่นนั้นมีความพิเศษคือมีข้อมูลของทุกพื้นที่ในประเทศไทยที่ได้เสด็จไป ไม่ว่าจะเสด็จลงไปในพื้นที่ใด พระองค์จะทรงสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และราษฏรในท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแผนที่ไปพร้อมๆ กัน หากพบว่ามีข้อมูลใหม่ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาก็จะทรงบันทึกไว้อย่างละเอียด หรือหากมีความผิดพลาดก็จะทรงตรวจสอบเพื่อแก้ไขไปในคราวเดียวกัน จากการทรงงานเช่นนี้ทำให้บ่อยครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะทรงพระราชทานข้อมูลที่ถูกต้องแก่กรมแผนที่ทหารเพื่อนำไปแก้ไขให้ถูกต้องอีกด้วย นอกจากนี้ยังทรงใช้แผนที่ค้นหาว่าในแต่ละพื้นที่มีแหล่งน้ำ หรือเส้นทางน้ำอยู่ที่ใดบ้าง เพื่อเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ หรือแก้มลิง ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเยี่ยมเยียนราษฏรและสำรวจพื้นที่เพื่อการจัดการทรัพยากรโดยไม่กลัวความยากลำบากของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ทำให้ทุกพื้นที่ที่พระองค์เสด็จไปมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ทั้งยังเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สร้างการเรียนรู้ให้แก่ราษฏรได้นำไปใช้ประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรอย่างหาที่สุดมิได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีอยู่อย่างเปี่ยมล้น อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์จ๊อบไทยดอมคอม ยังได้รวบรวมเรื่องราวเทิดพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นแบบอย่างให้กับพสกนิกรไทย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.jobthai.com/REACH