กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
หลังจากขับเคี่ยวกันมานานกว่า 2 เดือน ผ่านการคัดเลือกจาก 218 ทีม จนเหลือ 100 ทีม 30 ทีม และ 11 ทีมตามลำดับ ในที่สุดก็ได้ทีมที่ชนะเลิศการประกวดในโครงการ "กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว" ปีที่ 11 เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ทีมปอดบำบัด จาก โรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ จ.ราชบุรี ซึ่งงานประกาศผลได้จัดขึ้นที่ธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีคณะกรรมการและผู้บริหารธนาคารกรุงไทยร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคับคั่ง
นางศิริพร นพวัฒนพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยมุ่งหวังที่จะเพาะพันธุ์ต้นกล้าสีขาว อันหมายถึงเยาวชนที่จะเป็นกำลังของชาติในอนาคต ให้เป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้คู่คุณธรรม และรู้จักนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ขยายผลไปสู่ครอบครัว รวมทั้งชุมชน จึงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการจัดทำโครงการ "กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว" ซึ่งตลอดระยะเวลา 11 ปี มีอาจารย์ นักเรียน นักศึกษาจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า3 หมื่นคน รวมกว่า 470 โครงงาน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคม ชุมชน และประเทศที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
"ในปีนี้ เราได้เชิญชวนนักเรียนมัธยมปลาย และปวช. ส่งแผนโครงงานที่จะช่วยพลิกฟื้นชุมชนด้วยวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาประกวดชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้เพิ่มรางวัลรวมเป็น 2.4 ล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก มีเยาวชนจากทั่วประเทศพร้อมใจกันส่งแผนโครงงานเข้าร่วมประกวดกว่า 200 ทีม ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต่างก็ได้รับประสบการณ์ดี ๆ โดยเฉพาะทีมที่เข้ารอบ 30 ทีมที่ได้เข้าค่ายเวิร์กชอป ได้พบเพื่อนต่างสถาบัน ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินโครงงาน นอกจากนี้ 11 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายยังได้รับเงินทุนตั้งต้นทีมละ 5 หมื่นบาท เพื่อนำไปดำเนินโครงงานจริง โดยเราได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำ ซึ่งทำให้เยาวชนได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาโครงงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย" นางศิริพร กล่าว
นางสาวประณิธาณ ตันติกำธน ตัวแทนจากทีมปอดบำบัดที่ชนะใจกรรมการจนคว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ "กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว" ปีที่ 11 มาครอง เล่าว่า "ทีมของเราทำโครงงานที่ชื่อว่า ผักตบชวาบำบัด สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน จุดเริ่มต้นของโครงงานเกิดจากมองเห็นว่าวิธีแก้ปัญหาน้ำเสียจากผักตบชวาที่ทำกันอยู่ยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่ แทนที่จะนำผักตบชวาไปทิ้ง เราสามารถนำรากมาใช้ทำปุ๋ยซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีและลดต้นทุนทางการเกษตรนำใบกับลำต้นมาทำถ่านซึ่งช่วยลดการตัดไม้ และลำต้นที่อบกำมะถันแล้วนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสานใช้ในครัวเรือนเพื่อเพิ่มรายได้ ตอนแรกคนในชุมชนยังไม่เชื่อ แต่พอทำไป ก็เริ่มเห็นว่าทำได้จริง ทุกอย่างได้ผลดี เลยมารวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มผักตบชวาหมู่บ้านเขาดิน ปัจจุบันโครงงานนี้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ชุมชนอื่นที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนของตนเอง"
"กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว เป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้นักเรียนอย่างเราได้พัฒนาตนเอง ฝึกฝนทักษะในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน อีกทั้งยังได้เรียนรู้แนวคิดจากโครงงานของทีมอื่น เราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอาชีพเสริมและช่วยบำบัดน้ำเสียให้กับชุมชน อยากให้รุ่นต่อไปสมัครเข้ามาร่วมโครงการกันมากๆ เชื่อว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์และสิ่งดีๆ กลับไปเหมือนพวกเรา" ตัวแทนจากทีมปอดบำบัด กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากทีมปอดบำบัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว ยังมีทีมที่ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมหอยจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) จ.มหาสารคาม รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมลูกพระวิษณุจากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งทีมนี้ยังได้รับรางวัล Popular Vote ด้วย และ รางวัลชมเชย อีก 8 ทีม ได้แก่ ทีม MPS PAPER จากโรงเรียนมีชัยพัฒนา จ.บุรีรัมย์, ทีม WS Power จากโรงเรียนวชิรวิทย์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่, ทีมฟื้นฟูภูมิปัญญา ตามรอยพ่อ อย่างพอเพียง จากโรงเรียนปิยะบุตร์ จ.ลพบุรี, ทีม Black Panther จากโรงเรียนศึกษานารีวิทยา กรุงเทพฯ, ทีมไทบ้าน จากโรงเรียนแก่งคอย จ.สระบุรี, ทีมเขาน้อย จากโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จ.ตราด, ทีมเมล็ดพันธุ์แห่งความพอเพียง Seed Of Sufficiency จากโรงเรียนนางัวราษฎร์รังสรรค์ จ.นครพนม และทีม WE ARE CARBONจากโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) กรุงเทพฯ