กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรมภายใต้ระบบฟาร์ม มีการกำหนดมาตรฐานฟาร์มอย่างชัดเจน แต่มีบางส่วนที่เลี้ยงสัตว์ปีก แบบรายย่อย ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยเลี้ยงหากินเองตามธรรมชาติ โดยเลี้ยงในบริเวณบ้าน สวนผลไม้ บางราย ไม่มีโรงเรือนสัตว์ปีกอาศัยอยู่ตามต้นไม้หรือใต้ถุนบ้าน ไม่มีการกำหนดมาตรฐานฟาร์มที่ชัดเจน ทำให้มีโอกาสเสี่ยง ต่อการเกิดโรคระบาดในสัตว์ปีกได้ง่าย มีอัตราการป่วยและตายสูง ดังนั้นกรมปศุสัตว์จึงมีจัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ปีกพื้นเมือง (Good Farming Management, GFM)
โครงการดังกล่าวเป็น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อยไปสู่มาตรฐานได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่อง การลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร ตลอดจนยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าว เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกต้องมีโรงเรือนปิดมิดชิดด้วยตาข่าย ป้องกันสัตว์พาหะนำโรค แยกสัตว์ปีกที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่อย่างชัดเจน และให้คำแนะนำในเรื่องการผลิตอาหารสัตว์ โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ตามท้องถิ่นและสมุนไพรที่ใช้รักษาสัตว์ อีกทั้งได้มีการลดปริมาณสัตว์ปีกที่ไม่มีความปลอดภัยทางชีวภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด วัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว เพื่อป้องกันและ ลดความเสี่ยงต่อโรคระบาดในสัตว์ปีก ตลอดจนการเพิ่มผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์ปีกพื้นเมือง และยังช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงการจัดการที่ถูกต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ตลอดจนเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรในระดับ Modern trade ต่อไป
ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีอากาศแปรปรวน ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน ที่สามารถป้องกันพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ ทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพสัตว์ปีก ทั้งนี้เกษตรกรสามารถขอคำแนะนำและสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน ในวันและเวลาราชการ
"ขอความร่วมมือหากพบเห็นสัตว์ปีกป่วยตายอย่างผิดปกติ โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในพื้นที่ของท่านหรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 0-9630-11946 ตลอด 24 ชั่วโมง" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด